ดาบีโพยอิติน อัลฟ่า (Darbepoetin alfa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า (Darbepoetin alfa) หรือมีชื่อการค้าว่า (NESP®) เป็นหนึ่งในยากลุ่ม อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent หรือ ESA) ซึ่งมีข้อบ่งใช้ของยานี้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากภาวะไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ได้รับการพัฒนาโครงสร้างยาโดยเชื่อมต่อโมเลกุลของสาร อีริโทรโพยอิตินErythropoietin โดยการเพิ่มสายคาร์โบไฮเดรตขึ้นในโครงสร้างยาดังกล่าว ซึ่งส่งผลทำให้สามารถกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ของสารอีลิโทรโพยอิตินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ตัวยานี้มีค่าครึ่งชีวิต(Half life)ยาวนานขึ้นยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารยา/ใช้ยานี้สามารถให้เพียงเดือนละ 2 ครั้งได้

อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่เป็นข้อห้ามใช้ของผู้ป่วย คือมี โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจติดตามค่าความดันโลหิตทั้งก่อนและระหว่างการรักษาด้วยยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่านี้

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ดาบีโพยอิตินอัลฟ่า

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ได้รับการพัฒนาให้เชื่อมต่อโมเลกุลอีริโทรโพยอิตินด้วยสารโปรตีนโมเลกุลใหญ่ขึ้น จึงสามารถกระตุ้นตัวรับอีลิโทรโพยอิตินได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีค่าครึ่งชีวิตยาวนานขึ้น จึงทำให้การบริหารยา/ใช้ยาตัว ดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ได้เพียงเดือนละ 1 - 2 ครั้ง โดยข้อบ่งใช้ของยานี้ คือ ใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคไตวายเรื้อรัง/โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต(การล้างไต) และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฟอกไต และยังรวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัดด้วย

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า เป็นยาในกลุ่มที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน อิริโทรโพยอิติน (Erythropoietin hormone ย่อว่า EPO) ที่เป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างเป็นไกลโคโปรตีน(Glycoprotein, โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีโมเลกุลจับตัวกับโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรต)ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยจะกระตุ้นการแบ่งตัวและการพัฒนาของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ให้ไปเป็นเม็ดเลือดแดง

ดังนั้นเมื่อยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า เข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะจับกับตัวรับของอีลิโทรโพยอิตินที่ผิวของเซลล์ตั้งต้น/เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และกระตุ้นการส่งสัญญาณในเซลล์ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์เม็ดเลือด เพื่อพัฒนาเป็นเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องอาศัย ธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12 ร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยโลหิตจางที่มีค่าเฟอริติน(Ferritin, คือสารโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวเก็บธาตุเหล็ก)ในเลือดต่ำกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือมีค่าความอิ่มตัวของทรานเฟอริน(Transferrin, คือ โปรตีนชนิดGlycoproteinในพลาสมา/น้ำเลือด/Plasmaที่รวมตัวอยู่กับธาตุเหล็ก)ต่ำกว่า 20 เปอร์เซนต์ ควรได้รับการรักษาด้วยการเสริมธาตุเหล็กร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเม็ดเลือดแดงจะถูกสร้างขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น แพทย์จะประเมินสถาวะของธาตุเหล็กในผู้ป่วย จากการตรวจเลือดดูค่าทั้ง 2 ดังกล่าว ทั้งก่อนและระหว่างการรักษาด้วยยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอดฉีดยาสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งาน/บริหารยาแก่ผู้ป่วย (Pre-filled syringe) โดยขนาดยาที่มีจำหน่ายต่อหนึ่งหลอดฉีดยา มีดังนี้ 20, 30 และ 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีวิธีใช้ยา/บริหารยา เช่น

ก. การบริหารยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าทางหลอดเลือดดำ หรือทางใต้ผิวหนัง ด้วยขนาดยา 0.75ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว1 กิโลกรัม/ 2 สัปดาห์ หรือ ขนาดยา 0.45 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/สัปดาห์

แนะนำให้เริ่มใช้ยาในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไต หรือผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัด ที่มีระดับฮีโมโกลบิน(Hemoglobin ย่อว่า Hg)ต่ำกว่า 10 กรัมต่อเดซิลิตร และหยุดให้ยานี้เมื่อระดับฮีโมโกลบินสูงกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร หรือหยุดยานี้เมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัดครบตามแผนการรักษา

การให้ยานี้แก่ผู้ป่วย จะให้น้อยครั้งกว่ายากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงชนิด รีคอมบิแนนท์ อิริโทรโพยอิติน (rEPO) เนื่องจาก ยานี้มีค่าครึ่งชีวิตในการกำจัดยาออกจากร่างกายยาวกว่า จึงไม่จำเป็นต้องฉีดบ่อยครั้ง

ตำแหน่งที่สามารถฉีดสารละลายยนี้เข้าใต้ผิวหนังได้ คือ บริเวณหน้าท้อง แขน หรือต้นขา โดยตำแหน่งดังที่กล่าวมา มีความเท่าเทียมกันสำหรับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง

การตรวจติดตามระดับฮีโมโกลบิน ควรติดตามทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับฮีโมโกลบินอยู่ตัว และตรวจติดตามเป็นระยะหลังจากนั้นตามดุลพินิจของแพทย์

ข. การปรับขนาดยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ตามขนาด ยาอิโพยอิติน อัลฟ่า (Epoetin alfa หรือ Erythropoetin alfa) ที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อน

ค. การปรับขนาดยา ดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ภายหลังได้เริ่มได้รับยานี้:

1 หากระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ภายหลัง 2 สัปดาห์ที่ได้รับยานี้ ให้ลดขนาดนยาดาบีโพยอิตินลง 25 เปอร์เซนต์

2 หากระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ภายหลัง สัปดาห์ที่ได้รับยานี้ ให้เพิ่มขนาดยาดาบีโพยอิตินขึ้น 25 เปอร์เซนต์

3 หากระดับฮีโมโกลบินไม่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่คาดไว้ ภายหลัง 12 สัปดาห์ที่ได้รับยานี้ ให้คงขนาดยานี้เท่าเดิมไว้ เท่าที่ขนาดยาดังกล่าวจะสามารถรักษาระดับฮีโมโกลบินไว้ได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับการให้เลือด และหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง นอกจากนั้น แพทย์อาจพิจารณาหยุดการรักษาด้วยยานี้ หากการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วยไม่บรรลุเป้าหมายที่แพทย์กำหนดไว้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

1. ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด

2. โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อนแล้ว

3. ประวัติการใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินบางชนิด อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยายาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า

4. หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาต่างๆที่ใช้อยู่ อาจผ่านสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมได้รับยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยควรต้องติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันที เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยา โดยควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีที่นึกขึ้นได้ เพื่อประสิทธิภาพของผลการรักษาด้วยยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า และเมื่อผู้ป่วยไปรับยาที่ขาดไปแล้ว จากนั้นจึงให้ไปรับยานี้ตามตารางเวลาที่แพทย์กำหนดต่อไป

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สามารถศึกษา ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา ของยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าได้จากหัวข้อ “ อาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent)” จากบทความเรื่อง อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ในเว็บ haamor.com

มีข้อควรระวังการใช้ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าอย่างไร?

สามารถศึกษาข้อควรระวังการใช้ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าได้จากหัวข้อ “ ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent)” จากบทความเรื่อง อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ในเว็บ haamor.com

*****อนึ่ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจาก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่พบว่า ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาดาบีโพยอิติน อัลฟ่าอย่างไร?

แนะนำเก็บยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า ในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงสว่าง/แสงแดด ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ระวังวิธีการขนส่งยานี้โดยขนส่งด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเขย่าหรือทำให้สารละลายยานี้กระทบกระเทือน และควรคงความเย็นแก่ยากลุ่มนี้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ก่อนการฉีดยานี้ ควรนำหลอดยาออกมาวางไว้ จนยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาบีโพยอิติน อัลฟ่า มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
NESP® (Pre-filled syringeขนาด 20, 30, 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) Kyowa Hakko Kirin

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aranesp, Cresp PFS, Cresp

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc; 2015-16.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
  4. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. การรักษาโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไต http://www.kidneythai.org/pdf/SRY%2043153%2023-9%20PC2%20DAO_91-94.pdf[2017,Sept2]
  5. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter Suppl 2012;2:279–335.
  6. Henry Cohen. Casebook in clinical pharmacokinetic and drug dosing. USA: McGraw-Hill; 2015