ดาซาทินิบ (Dasatinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาซาทินิบ(Dasatinib) จัดอยู่ในกลุ่มยารักษาตรงเป้า(Targeted therapy) ทางคลินิก นำมาใช้รักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล(Chronic Myelogenous Leukemia:CML) มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL) และโรคทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า ฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม(Philadelphia chromosome:Ph+) Ph+มีสาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่22และ9 โดยมีการแลกเปลี่ยนยีน/จีน/Geneบนโครโมโซมทั้งคู่ทำให้ได้ยีนที่ผิดปกติหรือที่เรียกว่า BCR-ABL fusion gene ยีนที่ผิดปกตินี้จะสร้างสารโปรตีน/โปรตีนที่มีชื่อว่า BCR-ABL protein ทำให้เกิดการกระตุ้นเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส(Tyrosine kinase, เอนไซม์ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารโปรตีนของร่างกาย)ให้ทำงานมากขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในที่สุด แพทย์มักจะใช้ยาดาซาทินิบเมื่อการใช้ ยาImatinib รักษาโรคมะเร็งดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล

ยาดาซาทินิบ มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส(Tyrosine kinase inhibitors) การออกฤทธิ์ของยาดาซาทินิบจะเกิดเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งต่างจากยารักษามะเร็งประเภทยาเคมีบำบัด(Chemotherapy) ที่จะออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของร่างกายจึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายมากกว่ายารักษาตรงเป้า

ยาดาซาทินิบ มีเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยารับประทาน ทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพียงวันละ1ครั้ง เมื่อตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารจะใช้เวลาประมาณ 0.5-6 ชั่วโมงเพื่อให้ระดับยานี้ขึ้นสูงสุดในกระแสเลือด ยาดาซาทินิบจะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.3-5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ก่อนสั่งจ่ายยาดาซาทินิบ แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยจนได้ข้อสรุปว่า ยาดาซาทินิบสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรค และข้อมูลสำคัญที่แพทย์จำเป็นต้องทราบมีดังนี้ เช่น

  • ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ
  • ปัจจุบันมียาอะไรที่ใช้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยา Atazanavir, Clarithromycin, Erythromycin, Indinavir, Itraconazole, Ketoconazole, Nefazodone, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Telithromycin, Voriconazole, Carbamazepine, Dexamethasone, Phenytoin, Phenobarbital, Rifampicin รวมถึงยาลดกรดชนิดต่างๆ ยาเหล่านี้ล้วนสร้างภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยากับดาซาทินิบได้ทั้งสิ้น
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือในภาวะให้นมบุตรหรือไม่ ด้วยยาชนิดนี้เป็นอันตรายต่อทารก
  • มีประวัติแพ้ยาอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ระหว่างที่ได้รับยาดาซาทินิบ ผู้ป่วยจะต้องสังเกตสัญญาณอันตรายจากการใช้ยาชนิดนี้ เช่น

  • ใบหน้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่มด้วยมีภาวะคั่งน้ำในร่างกาย และหายใจไม่ออก/หายใจลำบากด้วยเกิดภาวะน้ำท่วมปอด
  • คลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อจะรับประทานอาหาร และใช้ยาแก้คลื่นไส้ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ แล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย
  • มีไข้ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)หรือ มากกว่า
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการท้องเสีย 4–6 ครั้งต่อวัน
  • หัวใจเต้นผิดปกติ มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • อุจจาระมีสีคล้ำ หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
  • ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ด้วยจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง/ภาวะโลหิตจาง
  • เกิดแผลในช่องปาก และแผลมีอาการ เจ็บ ปวด บวม แดง

หากพบเห็นอาการดังกล่าวข้างต้น ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

ยาดาซาทินิบ เป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่มีอันตราย และต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาล โดยใช้ยาชื่อการค้าว่า Sprycel

ดาซาทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดาซาทินิบ

ยาดาซาทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia:CML)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL)
  • รักษาโรคฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม (Philadelphia chromosome)

ดาซาทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

การสร้างเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน/จีน บนโครโมโซมคู่ที่ 22 และ 9 โดย ABL-gene บนโครโมโซมคู่ที่ 9 ย้ายมาเชื่อมต่อกับ BCR-gene บนโครโมโซมคู่ที่ 22 เกิดเป็นยีนกลายพันธุ์ซึ่งเรียกว่า BCR-ABL fusion gene และโครโมโซมคู่ที่ 22 จะถูกเรียกว่า Philadelphia Chromosome จากกลไกการกลายพันธุ์ที่กล่าวมาทำให้เกิดการผลิต BCR-ABL tyrosine kinase และมีการเร่งกระตุ้นกิจกรรมของโปรตีนภายในเซลล์ เช่น การเพิ่มปริมาณโปรตีน และมีการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ด้อยคุณภาพอย่างรวดเร็ว

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดาซาทินิบ คือ ตัวยาจะเข้าจับกับเอนไซม์ BCR-ABL tyrosine kinase ทำให้หยุดการกระตุ้นกิจกรรมต่างๆของโปรตีนในเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหยุดการแบ่งตัว และทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง

ดาซาทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดาซาทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบเคลือบฟิล์ม ที่ประกอบด้วยตัวยา Dasatinib ขนาด 20, 50 และ 70 มิลลิกรัม/เม็ด

ดาซาทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดาซาทินิบ มีขนาดรับประทาน ดังนี้

ผู้ใหญ่และเด็ก: ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว โดยสามารถรับประทานยาขณะท้องว่างหรือพร้อมอาหารก็ได้ และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขณะได้รับยานี้ควรปฏิบัติตนและดูแลตนเองดังนี้

  • ล้างมือบ่อยครั้งขึ้นในแต่ละวัน
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • ผู้ที่ได้รับยานี้ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คน แออัด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าว
  • เพื่อลดอาการช่องปากเป็นแผล ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม กลั้วปาก ด้วยสารละลายเบกกิ้งโซดา(Baking soda)1 ช้อนชา/น้ำ 1 แก้ว หรือ ประมาณ 240 ซีซี วันละ 3 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งมีแสงแดดจัด ก่อนออกแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป หรือสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายมิดชิด
  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และพักผ่อนอย่างพอเพียง เพื่อให้การฟื้นสภาพร่างกายให้เป็นไปง่ายขึ้น
  • ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามสูบบุหรี่
  • หากพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ใดๆที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบนำผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาซาทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดาซาทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาดาซาทินิบ สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มปริมาณรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่ ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาดาซาทินิบต่อเนื่องตรงตามแพทย์สั่ง จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา

ดาซาทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดาซาทินิบ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืด ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ เส้นประสาทอักเสบ ชัก วิงเวียน ง่วงนอน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ผมร่วง เกิดลมพิษ เกิดสิว ผิวหนังอักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ตาแห้ง เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อได้ง่าย ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นอักเสบ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น มีอาการบวมน้ำ อาจเกิดไตวาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ ปอดบวม โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก หอบหืด ความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดหรือไม่ก็เพิ่ม เบื่ออาหาร กรดยูริคในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวล รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย
  • อื่นๆ: เช่น มีภาวะกลุ่มอาการมะเร็งถูกทำลาย(Tumor Lysis Syndrome)

มีข้อควรระวังการใช้ดาซาทินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดาซาทินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับปอดและหัวใจของผู้ป่วย เช่น มีอาการ ไอ หายใจขัด เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก และต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามทิ้งทำลายยานี้ลงในคูคลองสาธารณะรวมถึงพื้นดิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดาซาทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดาซาทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดาซาทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาดาซาทินิบร่วมกับยา Dexlansoprazole, Lansoprazole, Pantoprazole, Rabeprazole, Omeprazole เพราะจะรบกวนการดูดซึมของยาดาซาทินิบและทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาดาซาทินิบลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดาซาทินิบร่วมกับยา Teriflunomide, Leflunomide ด้วยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาดาซาทินิบร่วมกับ ยาAmprenavir เพราะจะทำให้ระดับเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำลงหรือเกิดภาวะโลหิตจางตามมา
  • ห้ามใช้ยาดาซาทินิบร่วมกับ ยาAmiodarone เพราะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาดาซาทินิบอย่างไร?

ควรเก็บยายาดาซาทินิบ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

ดาซาทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาซาทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sprycel (สปรายเซล)Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

  1. https://cancer-champions.com/chemotherapy-immunotherapy-targeted-therapy-whats-the-difference/ [2018,July7]
  2. https://www.youtube.com/watch?v=e4Uz3MLfhZs [2018,July7]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021986s7s8lbl.pdf [2018,July7]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00619 [2018,July7]
  5. http://www.sciencephoto.com/media/458766/view/dasatinib-leukaemia-drug-action [2018,July7]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/dasatinib,sprycel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July7]
  7. https://www.drugs.com/sfx/sprycel-side-effects.html [2018,July7]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dasatinib/?type=brief&mtype=generic [2018,July7]
  9. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sprycel/?type=brief [2018,July7]