ดอกซีลามีน (Doxylamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ดอกซีลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดอกซีลามีนอย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดอกซีลามีนอย่างไร?
- ดอกซีลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- สุขลักษณะการนอน สุขอนามัยการนอน (Sleep hygiene)
บทนำ
ยาดอกซีลามีน (Doxylamine หรือ Doxylamine succinate) เป็นยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine drug) ในรุ่นที่หนึ่งหรือจะเรียกว่าเป็นยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drug) ก็ได้ โดยนำมารักษาอาการโรคภูมิแพ้ในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ได้มีรายงานทางคลินิกว่า ยาดอกซีลามีนถูกใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับโดยใช้ยานี้ในระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ยังมีบางสูตรตำรับยาที่นำยานี้ไปผสมร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Paracetamol และ Codeine ด้วยทางคลินิกจัดให้ยาดอกซีลามีนมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ แพทย์จึงใช้ยาดอกซีลามีนร่วมกับวิตามินบี 6 จ่ายให้สตรีตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องในช่วงเวลาเช้า
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและมีบ้างที่เป็นยาพ่นจมูก ปกติตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้ากระแสเลือดประมาณ 24.7% หากเป็นยาชนิดพ่นจมูกการดูดซึมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70.8% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงและทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 12 ชั่วโมงเพื่อกำ จัดยาประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
การออกฤทธิ์ของยาดอกซีลามีนเกิดที่สมอง ผลข้างเคียงประการหนึ่งคือทำให้มีอาการง่วงนอน หากมองภาพรวมยาดอกซีลามีนเป็นยาที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อห้ามใช้บางประการสำหรับยานี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเนื่องจากยานี้จะผ่านออกทางน้ำนมได้
นอกจากนี้อาการของโรคบางประเภทจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาดอกซีลามีนเช่น โรคหืด หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง เป็นโรคปอด มีภาวะกระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ต้อหิน และโรคหัวใจ
หลังจากผู้ป่วยได้รับยาดอกซีลามีนแล้วควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด การรับประทานยาควรใช้น้ำเปล่าและไม่ควรรับประทานกับแอลกอฮอล์ด้วยจะเพิ่มอาการวิงเวียนและง่วงนอนได้อย่างมากจนอาจเกิดอันตรายโดยเฉพาะการขับขี่ยวดยานและการทำงานกับเครื่องจักร
ดอกซีลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดอกซีลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาอาการโรคภูมิแพ้เช่น คัดจมูก อาการคันของตา
- บรรเทาอาการนอนไม่หลับ
ดอกซีลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดอกซีลามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองและออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่างๆเช่น คัดจมูก อาการคันและระคายเคืองตา เมื่อสารฮีสตามีน (Histamine) ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้อย่างเต็ม ที่จึงทำให้อาการภูมิแพ้บรรเทาลง
ดอกซีลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาดอกซีลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นๆเช่น Doxylamine succinate 10 มิลลิกรัม + Pyridoxine hydrochloride (วิตามินบี 6) 10 มิลลิกรัม + Folic acid 2.5 มิลลิกรัม
ดอกซีลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดอกซีลามีนมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับอาการภูมิแพ้เช่น คัดจมูก อาการคันและระคายเคืองตา:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับเป็นยานอนหลับใช้ในระยะเวลาสั้นๆเป็นครั้งคราว:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดอกซีลามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดอกซีลามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดอกซีลามีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาดอกซีลามีนให้ตรงเวลา
ดอกซีลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดอกซีลามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- อาจมีการกดการทำงานของประสาทส่วนกลาง (เช่น ง่วงซึมมาก) โดยอาการจะเป็นมากหากใช้ยากับเด็ก
- อาจมีอาการ
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ปวดศีรษะ
- บางครั้งอาจพบอาการ
- ผื่นคัน
- เกิดลมชัก
- เหงื่อออกมาก
- สับสน
- ตัวสั่น
- หูดับ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ผมร่วง เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ดอกซีลามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซีลามีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กเล็กและสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ถึงแม้ทางคลินิกจัดว่ายาดอกซีลามีนปลอดภัยกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ควรต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรขณะใช้ยานี้ด้วยตัวยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนและง่วงนอน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยโรคลมชัก รวมถึงผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดอกซีลามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดอกซีลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดอกซีลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาดอกซีลามีนร่วมกับกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองหรือกดการทำงานของประสาทส่วนกลางเช่น ยา Barbiturate กลุ่มยานอนหลับ ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด และยากลุ่ม TCA
- ห้ามใช้ยาดอกซีลามีนร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือเกิดอาการชักติดตามมา
- การรับประทานยาดอกซีลามีนร่วมกับยา Sodium oxybate จะเพิ่มระยะเวลาของการนอนหลับได้ยาวนานขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาดอกซีลามีนร่วมกับยา Buprenorphine ด้วยจะทำให้มีภาวะกดการหายใจจนทำให้เกิดอาการโคม่าหรือถึงกับเสียชีวิต (ตาย) ติดตามมา
ควรเก็บรักษาดอกซีลามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาดอกซีลามีนดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ดอกซีลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดอกซีลามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Unisom (ยูนิซัม) | Physicians Total Care Inc |
ACMESIS (แอคเมซิส) | Acme Pharma |
ALDOMINE-B6 (แอลโดมีน-บี6) | Alpic Biotech |
ASOREST (แอสซอเรส) | Wonder |
AVN PLUS (เอวีเอ็น พลัส) | Treatwell |
BEDOXIN (เบดอกซิน) | Beulah |
BIOMORN (ไบโอมอร์น) | Blubell |
BIOPYRI (ไบโอไพริ) | Biochemix |
BOOKEY (บุคคี) | Skymax |
อนึ่ง ยาชื่อกาค้าอื่นของยานี้ เช่น Sominar
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Doxylamine [2018,Dec1]
- https://www.drugs.com/cdi/doxylamine.html [2018,Dec1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antihistamine#H1-receptor_antagonists [2018,Dec1]
- https://www.drugs.com/imprints/unisom-21225.html [2018,Dec1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Anticholinergic#Examples [2018,Dec1]
- http://www.drugs.com/dosage/doxylamine.html#Usual_Adult_Dose_for_Allergic_Rhinitis [2018,Dec1]
- http://www.mims.com/India/drug/info/doxylamine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2018,Dec1]