ดอกซาโซซิน (Doxasoxin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาดอกซาโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาโซซินอย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาดอกซาโซซินอย่างไร?
- ยาดอกซาโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Chronic non-bacterial prostatitis or Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
บทนำ
ยาดอกซาโซซิน (Doxasoxin หรือ Doxasoxin mesylate) เป็นยาในกลุ่มแอลฟาวัน แอดรีเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Alpha-1 adrenergic receptor blocker, กลุ่มยาที่ขัดขวาง/ปิดกั้นการทำงานของตัวรับของสารที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว) วงการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และบรรเทาอาการปัสสาวะขัดด้วยเหตุจากภาวะต่อมลูกหมากโต ในต่างประเทศแถบอเมริกาจะคุ้นเคยในชื่อการค้าว่า ‘Cardura XL’
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย)ของยาดอกซาโซซิน พบว่า ตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ประมาณ 65% และจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 98% โดยตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 22 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50%
คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ได้บรรจุยาดอกซาโซซินขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเข้าหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง
ยาดอกซาโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดอกซาโซซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
ยาดอกซาโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาดอกซาโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาปิดกั้นส่วนที่เรียกว่าตัวรับ(Receptor) แอลฟาวัน แอดรีโนเซ็ปเตอร์ (Alpha-1 adrenoceptors หรือ Alpha-1 adrenergic receptor) ซึ่งอยู่ในผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และทำให้แรงต้านทานภายในหลอดเลือด รวมถึงความดันโลหิตลดลง ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ตามสรรพคุณ
ยาดอกซาโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดอกซาโซซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาเม็ดขนาด 1, 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาดอกซาโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดอกซาโซซินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้รับประทาน 1 มิลลิกรัม ก่อนนอน หลังจากนั้น 1 - 2 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ปรับขนาดรับประทานตามการตอบสนองของอาการคนไข้ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 4 มิลลิ กรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้รับประทาน 1 มิลลิกรัม ก่อนนอน หลังจากนั้น 1 - 2 สัปดาห์ แพทย์อาจ ปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้ แต่ต้องคอยวัดความดันโลหิตหลังรับประทานยาไปแล้ว 2 - 6 ชั่วโมงเพื่อดูการตอบสนองของความดันโลหิตว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมหรือไม่ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2 - 4 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยานี้ไม่มีรายงานขนาดยาในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดอกซาโซซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดอกซาโซซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดอกซาโซซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาดอกซาโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดอกซาโซซิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เจ็บหน้าอก
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- เกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- วิงเวียน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ใจสั่น
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้
- ใบหน้า/ลำตัว บวม
- ปากแห้ง
- การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- การมองภาพผิดปกติ
- ท่อปัสสาวะอักเสบ
- เหงื่อออกมาก
- วิตกกังวล
- นอนไม่หลับ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เป็นตะคริว
- ใบหน้าแดง
- ความต้องการทางเพศถดถอย
- เยื่อจมูกอักเสบ
- ปัสสาวะมาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาโซซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาโซซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ
- อาจพบอาการความดันโลหิตต่ำ จนอาจเป็นลมหมดสติได้เมื่อมีการเพิ่มขนาดการรับประทานยานี้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการควบคุมอุปกรณ์เครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรง โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวหลังปรับขนาดรับประทานเป็นเวลา24 ชั่วโมงขึ้นไป
- ก่อนการใช้ยาดอกซาโซซินรักษาต่อมลูกหมากโต ต้องวินิจฉัยก่อนให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมิได้ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ระวังการใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดอกซาโซซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุก ชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาดอกซาโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดอกซาโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาดอกซาโซซิน ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาความดันโลหิตสูงของยาดอกซาโซซินด้อยลง หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาดอกซาโซซิน ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น เช่นยา Beta blockers, ACE inhibitors, Calcium channel blockers และยาขับปัสสาวะ (Diuretics) สามารถเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษายาดอกซาโซซินอย่างไร?
สามารถเก็บยาดอกซาโซซิน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาดอกซาโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดอกซาโซซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cardoxa (คาร์ดอกซา) | Sriprasit Pharma |
Cardura/Cardura XL (คาร์ดูรา/คาร์ดูรา เอ็กซ์แอล) | Pfizer |
Carxasin (คาร์ซาซิน) | M & H Manufacturing |
Cazosin (คาโซซิน) | Millimed |
Dezcard (เดชการ์ด) | Siam Bheasach |
Dovizin (โดวิซิน) | Ranbaxy |
Dozozin (โดโซซิน) | Umeda |
Duracard (ดูราการ์ด) | Sun Pharma |
Genzosin (เจนโซซิน) | Genovate Biotechnology |
Pencor (เพนคอร์) | Unison |
Xadosin (ซาโดซิน) | MacroPhar |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Doxazosin [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fdoxazosin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=doxasoxin&page=1 [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fcardura-cardura%2520xl%2f%3ftype%3dfull#Storage [2020,Dec19]