ดวงตาต้องดูแล (ตอนที่ 3 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 28 สิงหาคม 2562
- Tweet
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจสายตา ควรปฏิบัติดังนี้
- เด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี ควรตรวจตาสม่ำเสมอหรืออย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจว่ามีภาวะตาขี้เกียจหรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหรือไม่
- ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจโดยขยายม่านตา (Dilated eye exam) ทุกปี
- ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหิน ควรตรวจโดยขยายม่านตาทุก 2 ปี
ส่วนการป้องกันสายตาทำได้ด้วยการ
1. ตรวจสายตาเป็นประจำ
2. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะน้ำหนักตัวที่มากหรืออ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ทำให้มีความเสี่ยงสูงในเรื่องเบาหวานขึ้นจอตาและต้อหิน
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยป้องกันหรือควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และคลอเรสเตอรอลสูงได้ ซึ่งโรคเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหากับตาหรือการมองเห็น
4. กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) อย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น
5. รู้ประวัติเรื่องสายตาของคนในครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงของโรคตาที่อาจเกิดขึ้นและเฝ้าระวังได้
6. สวมแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสี UV-A และ UV-B ได้ 99-100%
7. เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคตามากขึ้น เช่น โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration) โรคต้อกระจก และสามารถทำลายประสาทตาได้
8. กรณีที่ใส่คอนแทคเลนส์ ให้รักษาความสะอาดและระวังการติดเชื้อ
9. กรณีที่มีการใช้สายตามากเป็นเวลานาน เช่น มองจอคอมพิวเตอร์ ตาอาจล้า ให้ลองใช้กฏ 20-20-20 เพื่อลดอาการเมื่อยล้าของตา กล่าวคือ ทุก 20 นาที ให้มองไกลออกไป 20 ฟุต นานเป็นเวลา 20 วินาที
และกรณีที่มีปัญหาสายตาดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
- การมองเห็นแย่ลง
- ตาแดงหรือตาแห้ง
- ปวดตา
- มองภาพไม่ชัด
- มองเห็นจุดดำ หรือ มีเส้นใยบางๆ ลอยอยู่ในลูกตา (Floaters)
- มีแสงวาบ (Flashes of light)
แหล่งข้อมูล:
- Keep an Eye on Your Vision Health. https://www.cdc.gov/features/healthyvision/index.html[2019, August 27].
- Eye Care. https://medlineplus.gov/eyecare.html [2019, August 27].