ดรอเพอริดอล (Droperidol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 มกราคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ดรอเพอริดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดรอเพอริดอลอย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดรอเพอริดอลอย่างไร?
- ดรอเพอริดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- โซเดียมออกซีเบต (Sodium oxybate)
- ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)
- โคเดอีน (Codeine)
- ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
บทนำ
ยาดรอเพอริดอล (Droperidol) เป็นยาในกลุ่ม Antidopaminergic drug/Dopamine antagonist ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยา Janssen Pharmaceutica เมื่อปี ค.ศ.1961 (พ.ศ. 2504) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาต้านการอาเจียนรวมถึงอาการอาเจียนที่เกิดหลังการผ่าตัด และด้วยมีฤทธิ์กล่อมประสาท/ยาคลายเครียดจึงนำมาใช้บำบัดอาการทางจิตได้อีกด้วย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาด้านอื่นของยาดรอเพอริดอลคือ ทำให้หลอดเลือดขยายตัว รวมถึงลดความดันของหลอดเลือดแดงในปอดส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลง
เงื่อนไขของการใช้ยาดรอเพอริดอลจะต้องนำประวัติสุขภาพของผู้ป่วยเข้ามาร่วมพิจารณา เช่น
- ต้องไม่มีประวัติแพ้ยาดรอเพอริดอล
- ต้องไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีโรคที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ร่วมกับยา Astemizole, Cisapride ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Ketolide, Macrolide
- นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันกับยาดรอเพอริดอลหรือต้องเพิ่มความระวังในการใช้ โดยอาจต้องปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไปเช่น การใช้ยาดรอเพอริดอลร่วมกับยาต้านอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยากลุ่ม Phenothiazine ยากลุ่ม Quinolones ยาต้านภาวะซึมเศร้า หรือการใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุราอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาดรอเพอริดอลจะเป็นยาฉีดและมีการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
สำหรับข้อมูลที่ผู้บริโภคควรทราบในระหว่างที่ได้รับยาดรอเพอริดอลเช่น อาจพบอาการวิงเวียนและง่วงนอนจากฤทธิ์ของยาดรอเพอริดอลโดยตรง ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทเช่น ยาคลายเครียด นอกจากนี้ยาดรอเพอริดอลยังทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น มีเหงื่อออกมาก มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอาการข้างเคียง (ผลข้าง เคียง) ที่จัดว่ารุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจสอบค่า ECG/การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นระยะๆ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้แพทย์เลือกใช้ยาดรอเพอริดอลก็ต่อเมื่อใช้ยาอื่นในการรักษาผู้ป่วยแล้วไม่ได้ผล
ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาดรอเพอริดอลกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนการใช้ยาดรอเพอริดอลกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
ทั้งนี้ยาดรอเพอริดอลสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กแต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น
ดรอเพอริดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดรอเพอริดอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน
- บำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากการผ่าตัด
ดรอเพอริดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาดรอเพอริดอลจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองส่วนระดับลึก (Subcortical level)รวมถึงสมองส่วนกลางและส่วนที่เป็นก้านสมอง ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) สารสื่อประสาทประเภท Cathecolamine receptors และยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทบางตัว นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Dopamine และ Acetylcholine ในสมองอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ดรอเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดรอเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีด ขนาด 5 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ดรอเพอริดอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาดรอเพอริดอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆขนาด 2.5 มิลลิกรัม แพทย์อาจให้ยาซ้ำขนาด 1.25 มิลลิกรัมเพื่อประสิทธิผลของการรักษา
- เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิ โลกรัม
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดรอเพอริดอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาดรอเพอริดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ดรอเพอริดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดรอเพอริดอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ตาพร่า รู้สึกสับสน วิงเวียน เป็นลม เหงื่อออก อ่อนเพลีย อาจพบอาการหนาวสั่น ไอ เปลือกตา/หนังตาบวม ใบหน้า-ริมฝีปาก-ลิ้น บวม
ทั้งนี้อาการข้างเคียงหลายอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวและทำให้อาการข้างเคียงเหล่านั้นดีขึ้น แต่ถ้าเกิดอาการรุนแรงควรต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลผู้ดูแลทันที/ฉุกเฉิน (ยานี้เป็นยาใช้เฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาล)
มีข้อควรระวังการใช้ดรอเพอริดอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดรอเพอริดอลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองถูกกดการทำงาน (เช่น ง่วงซึม) ผู้ป่วยที่ไขกระดูกไม่ทำงาน (เช่น ภาวะซีด) ผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับโรคไต ผู้ที่มีประวัติเป็นดีซ่าน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมลูกหมากโต หรือมีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ/โรคทางเดินหายใจ โรคของระบบเลือด/โรคเลือด
- ระหว่างการใช้ยาดรอเพอริดอลควรต้องตรวจสอบค่า ECG/การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ควบคู่กันไป
- หากพบอาการแพ้ยาต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลที่ดูแลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดรอเพอริดอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดรอเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดรอเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาดรอเพอริดอลร่วมกับยา Amitriptyline, Azithromycin, Codeine, Hydrocortisone ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- การใช้ยาดรอเพอริดอลร่วมกับยา Sodium oxybate จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อสมองและส่งผลให้มีอาการง่วงนอน วิงเวียน ซึมเศร้า รู้สึกสับสน และความดันโลหิตต่ำ เพื่อป้อง กันอาการเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาดรอเพอริดอลอย่างไร
ควรเก็บยาดรอเพอริดอลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ดรอเพอริดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดรอเพอริดอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Droperol (ดรอเพอรอล) | Troikaa |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Droperidol [2016,Jan2]
- http://www.drugs.com/pro/droperidol.html [2016,Jan2]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00450 [2016,Jan2]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Droperidol [2016,Jan2]
- http://www.mims.com/India/drug/info/droperidol/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,Jan2]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/droperidol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan2]