ซูมาทริปแทน (Sumatriptan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซูมาทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซูมาทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซูมาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซูมาทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ซูมาทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซูมาทริปแทนอย่างไร?
- ซูมาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซูมาทริปแทนอย่างไร?
- ซูมาทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- เอสเอ็นอาร์ไอ: ยาโรคซึมเศร้า (SNRI: Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) คือ ยาบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน จัดเป็นสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างประเภททริปแทน (Triptan) ชื่อการค้ารู้จักกันดีคือ ‘Imitrex’ และ ‘Imigran’ โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน, ยาฉีดใต้ผิวหนัง, และ ยาพ่นจมูก, ซึ่งยาซูมาทริปแทนในรูปแบบของยาฉีดจะออกฤทธิ์บำบัดอาการปวดไมเกรนได้ดีกว่าชนิดรับประทานและชนิดพ่น
ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงมีข้อพึงระวังของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, และเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ติดตามมา
มีการศึกษาการกระจายตัวของยาซูมาทริปแทนในร่างกายของคนเราพบว่า การดูดซึมของยานี้ จากระบบทางเดินอาหารมีเพียงประมาณ 14%, ดูดซึมจากโพรงจมูกประมาณ 16%, การดูดซึมจาก การฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีถึงประมาณ 96% ที่นับว่าเป็นปริมาณมากที่สุด, เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 14 - 21% ยาซูมาทริปแทนสามารถซึมเข้าน้ำนมของมารดาได้ จึงไม่เหมาะกับสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมบุตร ตัวยาส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
การใช้ยาซูมาทริปแทนในรูปแบบต่างๆจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์โดยสรุปดังนี้
- การได้รับยาจากการรับประทาน ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 30 นาทีหลังรับประทาน
- การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 10 - 15 นาที
- หากพ่นยาเข้าทางจมูก ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยานี้ในลักษณะใดก็ตามควรต้องให้แพทย์เป็นผู้แนะนำ ด้วยสภาพร่างกายของผู้ป่วยมีความแตกต่างกันทั้งทาง อายุ, เพศ, โรคประจำตัวของแต่ละบุคคล, หรือมีการรับประทานยาชนิดอื่นร่วมอยู่ด้วย
ปัจจุบันยาซูมาทริปแทนมีการพัฒนาจากยาเดี่ยวมาเป็นยาผสมร่วมกับยา Naproxen ทำให้การรักษาได้ผลดีมากขึ้น มากไปกว่านั้นยังมียาซูมาทริปแทนชนิดพลาสเตอร์ปิดผิวหนังที่ปลดปล่อยตัว ยาเข้าสู่ผิวหนังโดยใช้อุปกรณ์ไมโครชิพ (Microchip) ช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงดันไฟฟ้าระดับต่ำๆเพื่อขับเคลื่อนตัวยาและปลดปล่อยตัวยาเข้าสู่ผิวหนังภายใน 30 นาที
อนึ่ง ก่อนการสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นแบบยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก ฯลฯ แพทย์มักสอบถามข้อมูล/ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยในเบื้องต้น เช่น
- มีประวัติหรือเป็นโรคหัวใจประเภท กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หรือภาวะหัวใจล้มเหลว หรือไม่
- เคยมีอาการอัมพาต:โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือไม่
- ลักษณะการเกิดไมเกรนของผู้ป่วยเป็นอย่างไรโดยให้ผู้ป่วยเป็นผู้อธิบาย
- ปัจจุบันรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง, แพ้ยาอะไรหรือเปล่า
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
- มีสภาวะของ ไต ตับ เป็นปกติดีหรือไม่
ซึ่งหากการตรวจคัดกรองอาการของผู้ป่วยผ่านไปได้ด้วยดีและแพทย์พร้อมที่จะสั่งยานี้ให้ผู้ป่วย แพทย์มักจะกำชับการใช้ยานี้ ดังนี้ เช่น
- สามารถรับประทานเป็นครั้งที่ 2 หลังจากการรับประทานครั้งแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นโดยต้องเว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- ยาซูมาทริปแทนใช้บำบัดอาการของโรคไมเกรน ดังนั้นหากพบว่าจะเกิดไมเกรน ควรรีบใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์โดยเร็วและถูกต้อง
- เฉพาะยาฉีดกรณีฉีดไปแล้ว 1 เข็มแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะไม่สั่งจ่ายการฉีดยาเข็มที่สอง แต่จะปรับการรักษาใหม่
- หากมีอาการแพ้ยาจะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
- ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) หรือไม่พบอาการข้างเคียงใดๆเลยก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล อาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเข้ามาช่วยบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับอาการและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- *การรับประทานยานี้เกินขนาดอันเนื่องมาจากหลงลืมจนเกิดข้อผิดพลาด ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน
- อย่าปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง หรือ แบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทานเป็นอันขาด
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข้อสงสัย สามารถซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาหรือสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลหรือเภสัชใกล้บ้านได้โดยทั่วไป
ซูมาทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซูมาทริปแทนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
- รักษาอาการไมเกรนของสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
ซูมาทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซูมาทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า 5-HT1B (5-hydroxytryptamine receptor 1B) และ 5-HT1D receptor (5-hydroxytryptamine receptor 1D) ซึ่งอยู่ในบริเวณหลอดเลือดของสมอง ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดจนก่อให้เกิดฤทธิ์ลดการปวดศีรษะไมเกรนตามสรรพคุณ
ซูมาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาซูมาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาดความแรง 6 มิลลิกรัม/1 กล่องบรรจุ
- ยาพ่นจมูก ขนาดความแรง 5 และ 20 มิลลิกรัม
ซูมาทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซูมาทริปแทนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัม เมื่ออาการดีขึ้นแต่รู้สึกเหมือนจะกลับมาเป็นไมเกรนอีกครั้งให้รับประทานยามื้อถัดไปโดยเว้นระยะเวลาห่างจากมื้อแรกประมาณ 24 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นห้ามรับประทานยาเพิ่มหรือรับประทานติดต่อในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่แจ้งไว้ก่อนการใช้ยา สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางการศึกษาที่แน่ชัดในผลข้างเคียงของยานี้ในคนกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในคนกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซูมาทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาซูมาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ซูมาทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซูมาทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น
- ตัวร้อน
- ความดันโลหิตสูง
- ใบหน้าแดง
- วิงเวียน
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ตาพร่า
มีข้อควรระวังการใช้ซูมาทริปแทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซูมาทริปแทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยอัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างการใช้ยานี้อาจพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระวังการเกิด ความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในระหว่างการใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยอาจกระตุ้นการเกิด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซูมาทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซูมาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซูมาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซูมาทริปแทน ร่วมกับ ยากลุ่มทริปแทน (Triptan)ตัวอื่นด้วยจะทำให้อาการข้างเคียงต่างๆเพิ่มมากขึ้นหรืออาจถึงขั้นเป็นพิษต่อร่างกาย
- การใช้ยาซูมาทริปแทน ร่วมกับ ยาประเภท Ergot alkaloid (สารพิษที่ได้จากโรคเชื้อรากลุ่มที่มีชื่อว่า Ergot) เช่นยา Ergotamine อาจทำให้หลอดเลือดดำเกร็งตัวได้ยาวนานจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซูมาทริปแทน ร่วมกับยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (เอสเอสอาร์ไอ/ SSRIs) และ ยาต้านเศร้า (Serotonin norepinephrine reuptake inhibitors ย่อว่า เอสเอ็นอาร์ไอ/ SNRIs) ด้วยอาจเกิดความเสี่ยงเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน ติดตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซูมาทริปแทนร่วมกับยากลุ่มเอมเอโอไอ(MAOIs) ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วย จะได้รับผลข้างเคียงของยาซูมาทริปแทนเพิ่มมากขึ้นติดตามมา
ควรเก็บรักษาซูมาทริปแทนอย่างไร?
ควรเก็บยาซูมาทริปแทน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซูมาทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซูมาทริปแทน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Imigran (อิมิแกรน) | GlaxoSmithKline |
Imitrex (อิมิเทรค) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sumatriptan#Adverse_effects [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=sumatriptan [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Imigran/?type=brief [2021,Oct2]
- https://www.drugs.com/cdi/sumatriptan-tablets.html [2021,Oct2]
- https://www.drugs.com/mtm/sumatriptan-injection.html [2021,Oct2]
- https://www.rxlist.com/imitrex-drug.htm [2021,Oct2]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/23027 [2021,Oct2]
- https://www.drugs.com/imprints/imitrex-100-709.html [2021,Oct2]