ซูคราลเฟต (Sucralfate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซูคราลเฟต (Sucralfate) เป็นยาชนิดรับประทานเพื่อรักษาแผลที่ลำไส้และโรคกรดไหลย้อน มีจำหน่ายในหลายประเทศทั้งแถบยุโรป อเมริกา แคนนาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า โครงสร้างทางเคมีของยานี้ประกอบด้วยน้ำตาลซูโครส (Sucrose) ที่รวมอยู่กับสารซัลเฟต-อะลูมิเนียม (Sulfate-Aluminium) ทำให้การดูดซึมจากทางเดินอาหารมีเพียง 3 - 5% ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงจากระบบทางเดินอาหารและบางส่วนถูกเปลี่ยนแปลงโดยตับ ร่างกาย จะขับยานี้ออกโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ซูคราลเฟตลงในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุใช้รักษาแผลในระบบทางเดินอาหารของหญิงตั้งครรภ์

ซูคราลเฟตจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การที่จะใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสม ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาซูคราลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซูคราลเฟต

ยาซูคราลเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเรื้อรัง
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเปบติค)
  • ป้องกันการเลือดออกจากแผลในกระเพาะและลำไส้
  • รักษาภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
  • ใช้ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาแผลพุพองและอักเสบของผิวหนัง หรือรับประทานเพื่อป้องกันและ/หรือรักษาแผลในทางเดินอาหาร อันเนื่องมาจากรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด

ยาซูคราลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาซูคราลเฟตคือ ตัวยาจะเข้าไปจับกับโปรตีนที่มีประจุไฟฟ้าตามผนังลำไส้ - กระเพาะอาหาร และสร้างกลุ่มเยื่อเมือกปกคลุมมิให้ผนังลำไส้ - กระเพาะอาหารสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารและกับเอนไซม์ย่อยอาหารต่างๆ (เข่น เปปซิน/Pepsin, น้ำดี) ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาซูคราลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซูคราลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด และ 1 กรัม/เม็ด
  • ยาเจล (Gel) ขนาด 1 กรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำ ขนาด 1 กรัม/5 มิลลิลิตร

ยาซูคราลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซูคราลเฟตมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 กรัมในขณะท้องว่าง 4 ครั้ง/วัน หรือรับประทานครั้งละ 2 กรัม ในขณะท้องว่าง 2 ครั้ง/วัน

ข. เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer prophylaxis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 กรัมในขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง

ค. สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 กรัมในขณะท้องว่าง วันละ 4 ครั้ง

ง. สำหรับรักษาภาวะ/โรคกรดไหลย้อน (GERD): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 กรัมในขณะท้องว่าง วันละ 4 ครั้ง

จ. รักษาแผลพุพองและอักเสบอันเนื่องมาจากรังสีหรือเคมีบำบัด: เช่น

  • รับประทานครั้งละ 5 - 10 มิลลิลิตรในขณะท้องว่าง วันละ 4 ครั้ง

*อนึ่ง: เด็ก: ยังไม่มีการแนะนำขนาดยาที่เป็นมาตรฐานในการใช้ยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซูคราลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซูคราลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซูคราลเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาซูคราลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซูคราลเฟตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • วิงเวียน
  • ปากแห้ง
  • รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ปวดหัว
  • ปวดหลัง
  • ง่วงนอน

มีข้อควรระวังการใช้ยาซูคราลเฟตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซูคราลเฟต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการเกิดพิษจากเกลืออะลูมิเนียม (Aluminium salt, อาการเช่น ความจำเสื่อม สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว ท้องอืด ปวดท้อง) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในตัวยากับผู้ป่วยด้วยภาวะ/โรคไตวาย
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น เด็กทารก เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซูคราลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาซูคราลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซูคราลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาซูคราลเฟตร่วมกับ ยาต่อไปนี้ อาจทำให้การดูดซึมของยาต่างๆเหล่านั้นลดน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกัน ควรรับประทานยาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ยากลุ่มดังกล่าวเช่น
    • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Tetracyclines
    • ยาลดกรด เช่นยา Cimetidine, Ranitidine
    • ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Ketoconazole
    • ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline
    • ยากันชัก เช่นยา Phenytoin
    • ยารักษาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
  • การรับประทานยาซูคราลเฟตร่วมกับ ยาลดกรด เช่นยา แคลเซียมคาร์บอเนต, อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์, แมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ จะทำให้ภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร - ลำไส้เปลี่ยน แปลงไป จนอาจส่งผลให้ยาซูคราลเฟตไม่สามารถจับกับเยื่อเมือกของผนังกระเพาะและลำไส้ ทำให้ลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาซูคราลเฟต หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ต้องปรับระยะ เวลาในการรับประทานให้ห่างกัน 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษายาซูคราลเฟตอย่างไร?

ควรเก็บยาซูคราลเฟต เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาซูคราลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซูคราลเฟต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sucral (ซูคราล) Ranbaxy
Sucrate Gel (ซูเครท เจล) Lisapharma
Ulcefate/Ulcefate Chewable Tablet (อัลซีเฟต/อัลซีเฟต ชิวเอเบิล แท็ปเลต) Siam Bheasach
Ulcrafate (อัลคราเฟต) Polipharm
Ulsanic (อัลซานิก) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Sucralfate [2020,Feb22]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/sucralfate/ [2020,Feb22]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=sucralfate [2020,Feb22]
4 http://www.drugs.com/dosage/sucralfate.html [2020,Feb22]
5 http://en.wikipedia.org/wiki/Aphthous_stomatitis [2020,Feb22]