ซีโรโทเนอจิก (Serotonergic drug)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาซีโรโทเนอจิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซีโรโทเนอจิกอย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซีโรโทเนอจิกอย่างไร?
- ยาซีโรโทเนอจิกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
- Serotonin receptor antagonists
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
ยาซีโรโทเนอจิก(Serotonergic drug) เป็นกลุ่มยาที่มีความเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทของมนุษย์ที่มีชื่อว่า ซีโรโทนิน(Serotonin) ยากลุ่มนี้เป็นสารเคมีที่ถูกดัดแปลงขึ้นมาบำบัดรักษาอาการผิดปกติของสมดุลของสารซีโรโทนินในร่างกาย ซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มยาซีโรโทเนอจิกเป็นหมวดหมู่ย่อย/กลุ่มย่อย ดังนี้
1. ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์(Serotonin receptor agonists หรือ Selective serotonin receptor agonist): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกับสาร Serotonin โดยตัวยา กลุ่มนี้จะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในร่างกายที่มีชื่อว่า Serotonin receptor หรือเรียกว่า 5-HT receptor(5-hydroxytryptamine receptor) ประโยชน์ทางคลินิกของยากลุ่มนี้ เช่น
- ใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และ โรคอารมณ์สองขั้ว
- ใช้บรรเทาและลดอาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดศรีษะคลัสเตอร์
- ใช้ป้องกันการอาเจียน โดยเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- บรรเทาอาการความจำเสื่อม
- ลดอารมณ์ก้าวร้าว และรักษาภาวะติดสุรา
- รักษาอาการสะอึก
- ช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศ
อนึ่ง ยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Triptan, Sumatriptan เป็นต้น
2. ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์(Serotonin receptor antagonists): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสาร Serotonin ที่ให้ประโยชน์ทางคลินิก เช่น
- ใช้บำบัดอาการทางจิตประสาท เช่น โรคซึมเศร้า
- บำบัดและป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ต่างๆ อาการของไข้ละอองฟาง บรรเทาอาการอาเจียน หรือช่วยเพิ่มความอยากอาหาร
- ลดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด
- รักษาโรคลำไส้แปรปรวน
อนึ่ง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Granisetron, Ondasetron
3. ซีโรโทนิน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (Serotonin reuptake inhibitors/SRI): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของสารซีโรโทนินในสมอง ประโยชน์ทางคลินิก เช่น
- รักษาภาวะซึมเศร้า
- รักษาอาการวิตกกังวล
- บรรเทาอาการย้ำคิดย้ำทำ
- บรรเทาอาการป่วยจากโรคหลอดเลือดในสมอง
- รักษาอาการหลั่งเร็วในบุรุษเพศ
- บรรเทาอาการบริโภคอาหารที่ผิดปกติ เช่น การอาเจียนหลังบริโภคอาหารทุกมื้อ
อนึ่ง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Fluoxetine, Sertraline
4. ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนต์ (Serotonin releasing agents ย่อว่า SRA): เป็นยาที่กระตุ้นการหลั่งสาร Serotonin ในสมอง ประโยชน์ทางคลินิก เช่น
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตัว
- รักษาภาวะซึมเศร้า และอาการวิตกกังวล
อนึ่ง ตัวยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Tramadol เป็นต้น
ยาในกลุ่มซีโรโทเนอจิก มีความเฉพาะเจาะจงต่ออาการโรคที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติของโรคแต่ละโรค ตามโครงสร้างทางเคมีของยาแต่ละตัวยาย่อย ดังนั้นแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถตรวจคัดกรอง และเลือกใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
ยาซีโรโทเนอจิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซีโรโทเนอจิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการความจำเสื่อม
- บำบัดอาการทางจิตประสาท เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว อาการย้ำคิดย้ำทำ
- บำบัดและป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน รักษาความดันโลหิตสูง
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตัว
- ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ต่างๆ
- ลดอารมณ์ก้าวร้าว และรักษาภาวะติดสุรา
ยาซีโรโทเนอจิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ด้วยกลุ่มยาซีโรโทเนอจิก เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ฤทธิ์แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มยาย่อยตามธรรมชาติของแต่ละกลุ่มยาย่อย ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์จะเกิดที่สมอง โดยมีความสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Serotonin กล่าวคือยากลุ่มซีโรโทเนอจิกนี้จะทำให้สมดุลของสาร Serotonin ในสมองมีระดับที่เหมาะสม จนช่วยบรรเทาอาการป่วยของผู้ป่วยที่เกิดจากการขาดสมดุลของสาร Serotoninได้ในที่สุด
ยาซีโรโทเนอจิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซีโรโทเนอจิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยารับประทาน ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ
- ยาฉีด
- ยาพ่นจมูก
- ยาเหน็บทวาร
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
ยาซีโรโทเนอจิกมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มซีโรโทเนอจิก มีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทานและขนาดการบริหารยา/ใช้ยา จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นแต่ละกรณีๆของแต่ละผู้ป่วย โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย เช่น อายุ อาการโรค ความรุนแรงของอาการ ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย เพื่อช่วยในการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด นอกจากนั้น หลายอาการของโรค ต้องใช้เวลาของการรับประทาน/การรักษาโดยให้ผู้ป่วยได้รับยานี้ต่อเนื่องจนครบตามมาตรฐานของการใช้ยานี้ถึงแม้อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้นการรับประทาน/การใช้ยานี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วย ซี้อ และ/หรือปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว บทความนี้จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดของการรับประทาน/การใช้ยาในกลุ่มนี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีโรโทเนอจิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีโรโทเนอจิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาซีโรโทเนอจิก ก็สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาซีโรโทเนอจิกบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมา และมักทำให้อาการป่วยทรุดลง การรับประทานยาซีโรโทเนอจิก ตรงเวลา จึงย่อมส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง
ยาซีโรโทเนอจิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยากลุ่มซีโรโทเนอจิก สามารถส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้มากมาย เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน สับสน ชัก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติโดยอาจสูง หรือต่ำ ก็ได้
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตผิดปกติโดยอาจสูงหรือต่ำก็ได้
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ
ดังนั้น การใช้ยาซีโรโทเนอจิก แต่ละชนิด ผู้ป่วยจึงควรเรียนรู้ผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถสอบถามผลข้างเคียงจากยานี้ได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
มีข้อควรระวังการยาซีโรโทเนอจิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการยาซีโรโทเนอจิก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซีโรโทเนอจิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยาซีโรโทเนอจิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซีโรโทเนอจิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มซีโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน/ เวียนศีรษะอย่างมาก ง่วงนอน จึงห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยากลุ่มซีโรโทนิน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ ร่วมกับยารักษาโรคจิตประสาทชนิด อื่น เช่น MAOI และ TCA อาจนำไปสู่ภาวะ Serotonin syndrome และทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วจนถึงขึ้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาซีโรโทเนอจิกอย่างไร?
ควรเก็บยาซีโรโทเนอจิก ภายใต้อุณหภูมิที่ระบุมากับเอกสารกำกับยาไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาซีโรโทเนอจิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซีโรโทเนอจิก ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Imigran (อิมิแกรน) | GlaxoSmithKline |
Maxalt (แมกซอลท์) | Merck & Co Inc |
Amerge (อเมอร์ท) | GlaxoSmithKline |
Relpax (เรลแพกซ์) | Pfizer Inc |
Frova (โฟรวา) | Endo Pharmaceuticals Inc |
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) | Polipharm |
Avamigran (เอวาไมเกรน) | A. Menarini |
Cafergot (คาเฟอร์กอท) | Amdipharm |
Degran (ดีแกรน) | Ranbaxy |
Ergosia (เออร์โกเซีย) | Asian Pharma |
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) | Pharmahof |
Migana (ไมกานา) | T. Man Pharma |
Neuramizone (นูรามิโซน) | Sriprasit Pharma |
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) | Polipharm |
Polygot (โพลีกอต) | Pharmasant Lab |
Tofago (โทฟาโก) | T.O. Chemicals |
Abilify (อะบิลิฟาย) | Otsuka |
Irribow (อรีริโบว์) | Astellas Pharma |
Nasea (นาเซีย) | Astellas Pharma |
Dantron 8 (แดนทรอน 8) | Unison |
Emeset (เอเมเซท) | Cipla |
Emistop (เอมิสตอป) | Claris Lifesciences |
Ondavell (ออนดาเวล) | Novell Pharma |
Onsia (ออนเซีย) | Siam Bheasach |
Zetron (ซีทรอน) | Biolab |
Zofran/Zofran Zydis (โซฟราน/โซฟราน ไซดีส) | GlaxoSmithKline |
Priligy (พริลิจี้) | A.Menarini |
Esidep (อีซีเดพ) | Ranbaxy |
Lexapro (ลีซาโพร) | Lundbeck |
Anzac (แอนแซค) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Deproxin (เดพร็อกซิน) | Siam Bheasach |
Flulox 20 (ฟลูล็อกซ์ 20) | Medicine Products |
Flumed (ฟลูเมด) | Medifive |
Fluoxine (ฟลูโอซีน) | T. O. Chemicals |
Fluxetin Atlantic (ฟลูเซทิน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Foxetin (โฟเซทิน) | GPO |
Hapilux (แฮพิลักซ์) | Sandoz |
Loxetine-20 (โลซีไทน์-20) | March Pharma |
Prozac 20 (โพรแซค 20) | Eli Lilly |
Faverin (ฟาเวอริน) | Abbott |
Fluvoxin (ฟลูโวซิน) | Sun Pharma |
Seroxat/Seroxat CR (ซีโรแซท/ซีโรแซท ซีอาร์) | GlaxoSmithKline |
Serlift | Ranbaxy |
Serlin 50 (เซอร์ลิน 50) | Zydus Cadila |
Sertra (เซอร์ทรา) | Medifive |
Sertraline GPO (เซอร์ทราลีน จีพีโอ) | GPO |
Sertraline Sandoz | Sandoz |
Sisalon (ไซซาลอน) | Unison |
Starin | Atlantic Lab |
Zoloft | Pfizer |
Zarontin (ซารอนติน) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonergic [2016,Sept3]
- http://www.medscape.com/viewarticle/733706_2 [2016,Sept3]
- https://drugs-forum.com/forum/showthread.php?t=29994 [2016,Sept3]
- http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17209663 [2016,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_releasing_agent [2016,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_receptor_agonist [2016,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_antagonist [2016,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_reuptake_inhibitor [2016,Sept3]