ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Serotonin releasing agents or SRA)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์(Serotonin releasing agents ย่อว่า SRA) หรืออีกชื่อ คือ Selective serotonin releasing agents (ย่อว่า SSRA) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสาร Serotonin ในสมอง ประโยชน์ทางคลินิก จะใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน รักษาภาวะซึมเศร้า และอาการวิตกกังวล ซึ่งยา กลุ่มนี้มีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs)

ตัวอย่างของยาในกลุ่มSRAนี้ เท่าที่เคยมีใช้ในทางคลินิก เช่น Chlorphentermine, Cloforex, Dexfenfluramine, Etolorex, Fenfluramine, Flucetorex, Indeloxazine, Levofenfluramine, Tramadol

ยาหลายตัวดังกล่าวข้างต้น มีโครงสร้างที่เป็นอนุพันธ์ใกล้เคียงกับยา Amphetamines จึงส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)กับระบบการทำงานของหัวใจ เช่น ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เกิดอาการความดันโลหิตภายในปอดสูง หรือยาบางตัวอย่าง Tramadol จัดอยู่ในกลุ่มยา Opioid ถูกนำมาใช้เป็นยาบำบัดอาการปวด ก็สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น เกิดอาการชัก รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Serotonin syndrome

การเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่ม SRA นี้ แพทย์จะต้องตรวจคัดกรองอาการผู้ป่วยอย่างละเอียดเหมาะสม โดยนำประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบันของผู้ป่วย โรคประจำตัว อายุ น้ำหนัก สภาวะการตั้งครรภ์ สภาวะให้นมบุตร และมีการใช้ยาตัวอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ มาประกอบการพิจารณา เพื่อที่จะได้คัดเลือกการใช้ยา SRA ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ยาSRAหลายชนิดจัดเป็นสารเคมีที่อาจทำอันตรายต่อผู้บริโภคได้หากใช้ไม่ถูกวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม ผู้ป่วยจึงควรใช้ยากลุ่มนี้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซีโรโทนินรีลีสซิ่งเอเจนท์

ยาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/SRA มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน
  • บำบัดอาการทางจิตประสาท เช่น อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/SRA เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกการออฤทธิ์ โดยตัวยา จะกระตุ้นให้มีการการหลั่งสาร Serotoninจากเซลล์สมอง เข้าสู่บริเวณ Neuronal synaptic cleft(บริเวณที่มีการเชื่อมต่อในการทำงานของเซลล์สมอง)ภายในสมอง และทำให้สมดุลของสาร Serotonin ในสมองมีระดับที่เหมาะสม จนช่วยบรรเทาอาการป่วยได้ในที่สุด

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/SRA มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาเหน็บทวาร

ยาซีโรโทเนอจิกมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่ม SRA มีหลากหลายตัวยาย่อย ซึ่งขนาดรับประทาน และการบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มนี้แต่ละตัวยาย่อย จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป โดยต้องอาศัยข้อมูลทางกรแพทย์ของตัวผู้ป่วย เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร เพื่อรวมกับการเลือกใช้ยาSRAแต่ละตัวยาย่อยให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยในแต่ละกรณีให้มากที่สุด นอกจากนั้น หลายอาการของโรค จำเป็นต้องใช้เวลาของการใช้ยา SRA ให้ครบตามมาตรฐานถึงแม้อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นแล้วก็ตาม การใช้ยา SRA จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการใช้ยาเหล่านี้ด้วยตนเอง ดังนั้นในบทความนี้ จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยา SRA

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา SRA ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำโรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา SRA อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยา SRA สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาSRAบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมาและทำให้อาการป่วยทรุดลง การรับประทานยานี้ ตรงเวลา ย่อมส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาซีโรโทนินรีลีสซิ่งเอเจนท์/SRA สามารถส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับ พูดจาไม่ชัด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ท้องเสีย ปากแห้ง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก ลมพิษ มีผื่นคัน และรู้สึกแสบร้อนตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก เป็นลม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ระคายเคืองตา
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • อื่นๆ: เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย

*อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม SRA เกินขนาด จะมีอาการ กระสับกระส่าย ง่วงนอน รู้สึกสับสน หน้าแดง เกิดอาการตัวสั่น มีไข้ เหงื่อออกมาก ปวดท้อง หายใจถี่และเร็ว รูม่านตาขยาย หนังตากระตุก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดอาการชัก มีภาวะโคม่า หัวใจหยุดเต้น หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซีโรโทนินรีลีสซิ่งเอเจนท์/SRA เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยาSRAตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ระวังการเกิด Serotonin syndrome ในระหว่างใช้ยานี้
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ในการใช้เป็นยาลดน้ำหนัก แล้วน้ำหนักตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มด้วยตนเองโดยเด็ดขาด แต่ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/SRAด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/SRA มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Fenfluramine ร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมา
  • การใช้ยา Tramadol ร่วมกับยาแก้ปวดชนิดที่เป็นยาเสพติดอย่างเช่น ยาCodeine และยา Fentanyl สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก อึดอัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการตัวสั่น การพูดจาติดขัด เดินเซ เป็นต้น หากมีความประสงค์จะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Chlorphentermine ร่วมกับยาบางตัว เช่น Acetaminophen, Acetylsalicylic acid, Aminophylline, Butalbital(ยาแก้ปวด), สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างจากตัวยา Chlorphentermine ได้เพิ่มมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

ควรเก็บยาSRAภายใต้อุณหภูมิที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซีโรโทนิน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาSRAที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amanda (อแมนดา)Unison
Anadol (อนาดอล)T.O. Chemicals
Analab (อนาแลบ)Biolab
Duocetz (ดูโอเซทซ์)Mega Lifesciences
Mabron (มาบรอน)Medochemie
Madol (มาดอล)Masa Lab
Madola (มาโดลา)Pharmaland
Matradol (มาทราดอล)Charoon Bhesaj
Modsenal (มอดเซนอล)T. Man Pharma
Pacmadol (แพกมาดอล)Inpac Pharma
Paindol (เพนดอล)Polipharm
Pondimin (พอนดิมิน)Robins Pharm
Zarontin (ซารอนติน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_releasing_agent [2016,Sept10]
  2. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01556 [2016,Sept10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Fenfluramine [2016,Sept10]
  4. https://www.drugs.com/tramadol.html [2016,Sept10]