น้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง หรือ ซีเอสเอฟ (Cerebrospinal fluid: CSF)

น้ำในโพรงสมองและไขสันหลังที่มักเรียกย่อว่า ซีเอสเอฟ คือ น้ำ/ของเหลวที่มีอยู่ในช่องที่อยู่ระหว่างชั้นที่เรียกว่า subarachnoid space ใน เยื่อหุ้มสมอง, ในเยื่อหุ้มไขสันหลัง, ในโพรงน้ำในสมอง (Ventricle), และโพรงน้ำในไขสันหลัง (Central canal of spinal cord)

ประมาณ 60-70% ของซีเอสเอฟ สร้างจากเซลล์ที่ชื่อ Ependymal cell ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ Choroid plexus เนื้อเยื่อที่อยู่ใจกลางสมองในส่วนที่เป็นโพรงน้ำสมอง ส่วนที่เหลือประมาณ 30-40% ได้จากการซึมผ่านมาจากหลอดเลือดที่อยู่รอบๆโพรงน้ำสมอง

ทั้งนี้ ซีเอสเอฟจะไหลเวียนเป็นวงจรจากจุดกำเนิด เข้าสู่โพรงน้ำในสมองในไขสันหลัง โพรงในเยื่อหุ้มสมอง และซึมผ่านเข้าสู่หลอดเลือดดำ กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของร่าง กาย ซึ่งถ้าจงจรนี้อุดตันจากสาเหตุใดก็ตาม จะส่งผลให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง และ/หรือภาวะโพรงน้ำในสมองขยายใหญ่ผิดปกติ

ซีเอสเอฟ มีสีขาว ใส และถูกสร้างในปริมาณ 500 มิลลิลิตรต่อวัน ในการไหลเวียนจะมีความดัน (ความดันในกะโหลกศีรษะ) ประมาณ 7-15 มิลลิเมตรปรอท ประกอบด้วย น้ำ โปรตีน น้ำตาล เซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณน้อยมากๆๆ (0-3 เซลล์) และสารเคมีอื่นๆ เข่น โซเดียม (Sodium) โพแทสเซียม (Potassium) และแคลเซียม

ซีเอสเอฟ มีหน้าที่ปกป้องสมองและไขสันหลังจากการ กระทบ กระเทือนกระแทก, ช่วยคงรูปร่างของสมองและไขสันหลัง, ช่วยกำจัดของเสียจากเนื้อสมองและไขสันหลัง, และช่วยให้สารหลายชนิดที่อยู่ในหลอดเลือด/ในเลือด ที่อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อสมองซึมเข้าสู่เนื้อ เยื่อสมองไม่ได้ หรือได้น้อย ที่เรียกว่า Blood brain barrier (เช่น ยาเคมีบำบัดหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง)

นอกจากการทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว การตรวจซีเอสเอฟ ยังช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆของเยื่อหุ้มสมอง และของสมองได้อีกด้วย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ ไวรัสสมองอักเสบ และภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์สามารถตรวจซีเอสเอฟได้จากการตรวจที่เรียกว่า การเจาะหลัง

บรรณานุกรม

  1. Cerebrospinal fluid http://en.wikipedia.org/wiki/Cerebrospinal_fluid [2013,Nov3].