การตรวจค่าเอนไซม์ ซีพีเค (CPK test)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- เจ็บหน้าอก (Chest pain)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Muscular dystrophy)
- สมองขาดออกซิเจน สมองพร่องออกซิเจน (Cerebral hypoxia)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
ซีพีเค(CPK ย่อมาจาก Creatine phosphokinase) เรียกอีกชื่อคือ Creatine kinase ย่อว่า CK คือ เอนไซม์ที่เซลล์ต่างๆใช้ช่วยในการทำงาน/ใช้พลังงานของเซลล์ ซึ่งเอนไซม์นี้พบมากใน
- กล้ามเนื้อลาย
- กล้ามเนื้อหัวใจ
- ปอด
- และ สมอง
ดังนั้น เมื่อมีการ บาดเจ็บ อักเสบ การถูกทำลาย ของเซลล์/ เนื้อเยื่อ/อวัยวะ ต่างๆ โดยเฉพาะอวัยวะดังกล่าว เอนไซม์ CPK จึงถูกปล่อยเข้ากระแสเลือดสูงเกินปกติ
ข้อบ่งชี้การตรวจ:
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วย อาการที่แพทย์สงสัยเกิดจาก การบาดเจ็บ การอักเสบ การถูกทำลาย ของ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือ กล้ามเนื้อลาย หรือ สมอง หรือ ปอด ทางการแพทย์จึงนำการตรวจเลือดดูค่า CPK มาใช้ช่วยวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางช่วยการตรวจสืบค้นหาสาเหตุ ให้ได้ถูกต้อง รวดเร็ว ทั่วไป แพทย์มักสั่งตรวจค่านี้ ในกรณีแพทย์สงสัยโรคต่างๆ เช่น
- โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เช่น กรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บหน้อก) เป็นต้น
- โรคของกล้ามเนื้อลาย เช่น โรค กล้ามเนื้อลายสลาย ที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการมีไข้และปวดกล้ามเนื้อมากเฉียบพลัน , โรคกล้ามเนื้อเสื่อม(Muscular dystrophy) ที่ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กที่มาพบแพทย์ด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงต่อเนื่อง
- โรดปอด เช่น ปอดขาดเลือด เช่นใน ภาวะ/โรคสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
- โรคสมอง เช่น สมองขาดออกซิเจน กรณีผู้ป่วยมีอาการชักต่อเนื่อง
ค่าปกติ:
ค่าปกติของ CPK แตกต่างกันได้บ้างในแต่ละห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไป
- ผู้ชาย: 171 หน่วย/ลิตร(U/L) หรือ 2.86 mkat/L(หน่วยการทำงานของเอนไซม์)
- ผู้หญิง: 145 หน่วย/ลิตร(U/L) หรือ 2.42 mkat/L
ภาวะที่ทำให้ค่า CPK สูงขึ้นไม่มาก:
ภาวะทั่วไปที่ทำให้ค่า CPK ในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ไม่สูงมาก เช่น
- การออกกกำลังกาย โดยเฉพาะที่ออกแรงกล้ามเนื้อมาก
- ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด ยาเสพติด ยาสลบ
- หลังการผ่าตัด
- หลังฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ
- หลังการตรวจหัวใจด้วยสายสวน
- ผู้ป่วยโรคไต เพราะไตกำจัด CPKออกทางปัสสาวะได้น้อยลง จึงเหลือคงในเลือดสูงกว่าปกติ
โรคที่ค่า CPK ในเลือดขึ้นสูงมาก:
ภาวะ/โรคที่พบบ่อย เช่น
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- กล้ามเนื้อลายสลาย
- กล้ามเนื้อเสื่อม
- สมองขาดออกซิเจน
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
วิธีตรวจ:
ตรวจโดยการเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำเช่นเดียวกับการตรวจเลือดทั่วไป โดยไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า/ไม่ต้องงดอาหาร แต่ต้องแจ้งแพทย์ ถึง กิจกรรม การตรวจรักษาโรค และการใช้ยาต่างๆในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนตรวจ เพราะสิ่งต่างเหล่านี้มีผลให้เอนไซม์นี้สูงผิดปกติได้ และทั่วไป สามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ชนิดย่อยของ CPK:
CPK ประกอบด้วยเอนไซม์ 3ชนิดย่อย ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้เฉพาะเจาะจงขึ้น แต่การตรวจค่า CPKย่อยเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีสูง จึงสามารถตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์เฉพาะทางประจำทุกสาขา
CPK ทั้ง 3 ชนิดย่อย ได้แก่
- CPK-1 (CK-BB): พบสูงใน สมอง และปอด ดังนั้น การขึ้นสูงในเลือด ร่วมกับอาการผู้ป่วย จะช่วยบ่งชี้ว่า สาเหตุน่าเกิดจาก โรค/ภาวะ สมองขาดเลือด/สมองขาดออกซิเจน หรือ โรค/ภาวะปอดขาดเลือด เช่น ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
- CPK-2 (CK- MB): พบสูงในกล้ามเนื้อหัวใจ การขึ้นสูงในเลือด ร่วมกับอาการผู้ป่วย จะช่วยบ่งชี้ว่า สาเหตุน่าเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- CPK-3 (CK-MM): พบสูงในกล้ามเนื้อลาย การขึ้นสูงในเลือด ร่วมกับอาการผู้ป่วย จะช่วยบ่งชี้ว่า สาเหตุน่าเกิดจากโรคของกล้ามเนื้อลาย เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม
บรรณานุกรม: