ซิโนเมนีน (Sinomenine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซิโนเมนีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซิโนเมนีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิโนเมนีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิโนเมนีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ซิโนเมนีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิโนเมนีนอย่างไร?
- ซิโนเมนีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิโนเมนีนอย่างไร?
- ซิโนเมนีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาซิโนเมนีน (Sinomenine) คือ สารประกอบประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid, สารประกอบ ในธรรมชาติที่พบในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเช่น พืช สัตว์ เชื้อรา และแบคทีเรีย) พบในพืชตระกูล Sinomenium acutum ซึ่งพบมากในประเทศญี่ปุ่นและจีน ประเทศเหล่านี้มักจะจำหน่ายซิโนเมนีนในรูปของยาสมุนไพร โดยนำมารักษาอาการของโรคข้อรูมาตอยด์ และข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม เฉพาะประเทศจีนมีการใช้ซิโนเมนีนเป็นเวลายาวนานกว่า 2,000 ปี การออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับสารในกลุ่มฝื่น (Opioids)
กลไกการออกฤทธิ์ที่เด่นของยาซิโนเมนีนเห็นจะได้แก่ การทำให้ร่างกายหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) และยับยั้งการสังเคราะห์สารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเช่น Prostaglandin, Leukotriene และ Nitric oxide อาจกล่าวโดยรวมได้ว่า ผลิตภัณฑ์ซิโนเมนีนมีใช้แพร่หลายเฉพาะบางประเทศในแถบเอเชีย และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบำบัดรักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์
ซิโนเมนีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซิโนเมนีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์ และ ข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม
ซิโนเมนีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิโนเมนีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเกี่ยวข้องกับการอักเสบต่างๆเช่น Prostaglandin, Leukotriene และ Nitric oxide และมีกระบวนการเคมีอื่นๆติดตามมาร่วมด้วยจึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์การระงับปวดของยานี้
ซิโนเมนีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาซิโนเมนีนเท่าที่พบเห็น จะเป็นการผลิตในประเทศจีน ยังไม่มีการ ผลิตในไทย และยังไม่แน่ชัดว่าได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา) หรือไม่ ซึ่งรูปแบบที่ผลิตในประเทศจีน เช่น
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
- ชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน
ซิโนเมนีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
สามารถตรวจสอบรายละเอียดการรับประทานหรือการใช้ยาซิโนเมนีนจากเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่กำกับมากับตัวผลิตภัณฑ์
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซิโนเมนีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิโนเมนีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาซิโมเมนีน สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทาน/การใช้ยาเป็น 2 เท่า
ซิโนเมนีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
จากการศึกษาด้านผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ในห้องทดลองพบว่า ยาซิโนเมนีนสามารถกระตุ้นให้เกิด
- การชัก
- มีผื่นคัน
- ปากและตาบวม
มีข้อควรระวังการใช้ซิโนเมนีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ซิโนเมนีนดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์ยาซิโนเมนีน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยยาซิโนเมนีนมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร
- หากพบอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นทั้งตัว หรือเกิดความผิด ปกติต่อร่างกายหลังใช้ผลิตภัณฑ์/ยาซิโนเมนีน ให้หยุดการใช้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด(รวมยาซิโนเมนีนด้วย) อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซิโนเมนีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิโนเมนีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้ เช่น
- การใช้ยาซิโนเมนีน ร่วมกับ ยา Methotrexate มีรายงานว่า อาจส่งผลให้การรักษา โรคข้อรูมาตอยด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยลดอาการข้างเคียงของยา Methotrexate และยังลดกระบวนการทางเคมีที่คอยเปลี่ยนแปลงมวลกระดูกอีกด้วย แต่ประการสำคัญ การใช้ยาร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ควรเก็บรักษาซิโนเมนีนอย่างไร?
ควรเก็บยาซิโนเมนีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยาที่มากับผลิตภัณฑ์
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซิโนเมนีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตยาซิโนเมนีนในประเทศไทย และยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่าได้ขึ้นทะเบียนด้านความปลอดภัยจาก อย. แล้ว ซึ่งตัวยาที่ผลิตในจีน เช่น
- Sinomenine hydrochorolide tablet (ซิโนเมนีน ไฮโดรคลอโรไลด์ แทปเบลท)/ยารับ ประทาน ผลิตจากบริษัทในจีนชื่อ Xi’an Lijun Pharmaceutical co. Ltd
- Sinomenine transdermal patch (ซิโนเมนีน ทรานสเดอร์มอล แพท)/ยาแปะผิวหนัง ผลิตจากบริษัทในจีนชื่อ Tongji medical center (China)
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sinomenine [2021,April17]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/61710/ [2021,April17]
- https://worldwidescience.org/topicpages/s/sinomenine+transdermal+patch.html[2021,April17]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/61710/ [2021,April17]
- https://www.researchgate.net/publication/23394470_Development_and_evaluation_of_the_Sinomenine_transdermal_patch [2021,April17]
- https://worldwidescience.org/topicpages/s/sinomenine+transdermal+patch.html [2021,April17]
- https://drugs.ncats.io/drug/63LT81K70N [2021,April17]