ซิลิโคน (Silicone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ซิลิโคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซิลิโคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิลิโคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิลิโคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ซิลิโคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิลิโคนอย่างไร?
- ซิลิโคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิลิโคนอย่างไร?
- ซิลิโคนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แผลเป็นนูน (Keloid)
- แผล (Wound)
- ไซเมทิโคน (Simethicone) แอร์เอกซ์ (Air-X)
บทนำ
สารซิลิโคน(Silicone) หรือจะเรียกว่า โพลีไซล็อกเซน(Polysiloxane) มีโครงสร้างเคมีพื้นฐานประกอบด้วยธาตุซิลิคอน (Si หรือ Silicon), ออกซิเจน (O หรือOxygen ), คาร์บอน (Cหรือ Carbon) และไฮโดรเจน(H หรือ Hydrogen)
ในยุคปัจจุบัน ในการนำซิลิโคนไปใช้งาน อาจมีธาตุอื่นปนอยู่ในโครงสร้างของซิลิโคน เพื่อสามารถนำซิลิโคนไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆได้มากยิ่งขึ้น
คุณสมบัติของซิลิโคนโดยทั่วไปเป็นดังนี้
- นำความร้อนได้ต่ำ หรืออาจกล่าวว่าซิลิโคนจะป้องกันความร้อนได้ระดับหนึ่ง
- เป็นสารประกอบที่ไม่ค่อยเกิดปฏิกิริยาเคมีกับสารประกอบอื่นๆ
- มีความเป็นพิษต่ำ
- เป็นสารประกอบที่ป้องกันการซึมผ่านของน้ำ
- ไม่ใช่สารอาหาร จึงไม่พบเห็นการเติบโตของทั้ง เชื้อราและแบคทีเรีย บนสารซิลิโคน
- ซิลิโคนทนต่อ ออกซิเจน โอโซน รังสียูวี จึงเป็นเหตุผลทำให้มีการใช้ซิลิโคน ในงานอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง
- มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า จึงนำมาใช้ในส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ประเภท
- ซิลิโคนมีช่องอากาศระหว่างโมเลกุล เมื่อนำมาผลิตถุงมือยาง จะทำให้มีอากาศไหลเวียนเข้า-ออกได้ดีกว่าถุงมือยางสังเคราะห์(Butyl rubber) ประโยชน์ด้านนี้เองทำให้อุตสาหกรรมยา นำซิลิโคนไปผลิตเป็นเจลทาผิวหนังเพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน
ดังนั้น สามารถสรุปประโยชน์ของซิลิโคนที่พบเห็นการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันดังนี้ เช่น
1. ใช้ซิลิโคนมาผลิตเป็นจาระบีและสารหล่อลื่นที่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์
2. ใช้กับอุตสาหกรรมเส้นใย โดยใช้ซิลิโคนมาผสมกับไนล่อนทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ เป็นผืนผ้าที่กันน้ำได้
3. ใช้ทำพิมพ์ยางซิลิโคนสำหรับขึ้นรูปพิมพ์ของขนมหวาน
4. ใช้เป็นสารลดฟองในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง
5. ซิลิโคนเหลว ใช้เป็นสารไล่ความชื้นบนวัสดุอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม
6. ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องไฟฟ้า โดยทำเป็นฉนวนของอุปกรณ์เพื่อป้องกัน ไฟฟ้ารั่ว
7. ผลิตเป็นโฟม(Foam)สำหรับดับเพลิง ซึ่งพบเห็นการใช้ซิลิโคนในอุปกรณ์ดับเพลิงกับธุรกิจการบิน
8. ใช้ซิลิโคนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนัง รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม หรือเป็นองค์ประกอบของเครื่องสำอางที่เน้นจุดขายด้วยสีสันต่างๆ
9. ใช้ซิลิโคนเป็นสารป้องกันการซึมของน้ำในงานเดินท่อประปา
10. ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตของเล่นในเด็ก
11. ใช้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ท่อช่วยหายใจ ใช้ซิลิโคนเพื่อเคลือบสายสวน ปัสสาวะ ใช้ทำศัลยกรรมพลาสติก เช่น เสริมดั้งจมูก
อนึ่ง ในบทความนี้จะกล่าวถึง ซิลิโคน ในแง่มุมของ’ยา’เท่านั้น ซึ่งคือเภสัชภัณฑ์ ’ซิลิโคนเจล’ ที่ใช้เป็นยาป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนของผิวหนัง นอกจากนั้น ยังจะไม่กล่าวถึงซิลิโคนในด้านศัลยกรรมพลาสติกด้วย
ซิลิโคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
การใช้ซิลิโคน/สรรพคุณในด้านยารักษาโรคของซิลิโคนที่พบเห็นการใช้ในสถานพยาบาลของไทยคือ
- ใช้ป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน(Keloid)ที่เกิดจาก รอยมีดผ่าตัด แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ และแผลไหม้
ซิลิโคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดค้นประดิษฐ์และใช้กลไกของซิลิโคนเพื่อยับยั้งการเกิดแผลเป็นนูน โดยมีคำอธิบายดังนี้
- มาสต์เซลล์(Mast cell) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่พบในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของผิวหนัง หลังจากเกิดบาดแผล มาสต์เซลล์ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นให้เกิดอาการบวมจากอักเสบของบาดแผล ซิลิโคนจะยับยั้งการขยายตัวของหลอดเลือด ส่งผลลดการทำงานของมาสต์เซลล์และยังช่วยชะลอการซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวหนังในเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ รอยบาดแผลที่ปกคลุมด้วยซิลิโคนสามารถควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น แรงดันหรือแรงตึงผิวต่างๆให้อยู่ในเงื่อนไขหรือในสัดส่วนที่พอเหมาะต่อการสมานแผล ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงทำให้เกิดแผลเป็นนูนน้อยที่สุด
ซิลิโคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ทางการแพทย์ ซิลิโคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ซิลิโคนเจลที่มีส่วนประกอบของ Cyclopentasiloxane และ Silicone crosspolymer 98% + Vitamin C 2%
*หมายเหตุ:
- อย่าสับสนระหว่างยา Simethicone กับ Silicone
- ยาSimethicone ที่ใช้เป็นยารับประทานเพื่อขับลมในโรคระบบทางเดินอาหาร จะประกอบด้วย Silicone + Silicon dioxide
ซิลิโคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ซิลิโคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ทาซิลิโคนเจลบนรอยแผลวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยการทาต้องครอบคลุมพื้นที่ของรอยบาดแผล และตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เรื่องประสิทธิผล ขนาดยา และความปลอดภัยของการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ซิลิโคนเจล ทารอยแผลสด หรือแผลเปิด
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ซิลิโคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะซิลิโคนเจล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาซิลิโคนเจล สามารถใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
อย่างไรก็ตาม การลืมใช้ยาบ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง เพราะอาจทำให้แผลเป็นนูนกิดขึ้นได้ง่าย
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมทายาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยานั้นๆ
ซิลิโคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิลิโคนเจล สามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการ ปวด แดง หรือรู้สึกระคายเคือง บริเวณผิวหนังที่ทายานี้
มีข้อควรระวังการใช้ซิลิโคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิลิโคนเจล ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ซิลิโคนเจลทา แผลเปิด แผลสด
- ห้ามรับประทาน หรือใช้เป็น ยาหยอดตา ยาหยอดจมูก ยาหยอดหู
- ห้ามทายาซิลิโคนเจล ตรงรูทวารหนัก หรือช่องคลอด
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพของภาชนะบรรจุฉีดขาด
- ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซิลิโคนเจลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซิลิโคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยซิลิโคนเจล เป็นยาทาเฉพาะผิวหนังภายนอก จึงยังไม่มีรายงานพบเห็นการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาซิลิโคนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาซิลิโคนเจล ดังนี้ เช่น
- เก็บยาประเภทซิลิโคนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุใน เอกสารกำกับยา
- ห้ามเก็บซิลิโคนเจลในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บซิลิโคนเจลที่หมดอายุแล้ว
- เก็บซิลิโคนเจลในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บซิลิโคนเจลให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บซิลิโคนเจลใกล้แหล่งกำเนิดความร้อน
- ห้ามทิ้งซิลิโคนทุกชนิดรวมชนิดเจลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ซิลิโคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ซิลิโคนเจล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clenascar C Gel (คลีนาสการ์ ซี เจล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Silicone [2018,Sep15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/clenascar%20c%20gel/?type=brief [2018,Sep15]
- http://www.mims.com/thailand/image/info/clenascar%20c%20gel/7%20g?id=8e2fcf9c-15b3-4e48-9532-a60f013468f2 [2018,Sep15]
- https://www.researchgate.net/publication/10753619_Silicone_sheet_for_treatment_and_prevention_of_hypertrophic_scar_A_new_proposal_for_the_mechanism_of_efficacy [2018,Sep15]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Simethicone#section=Top [2018,Sep15]