ซิลนิดิปีน (Cilnidipine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ซิลนิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิลนิดิปีนอย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิลนิดิปีนอย่างไร?
- ซิลนิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาซิลนิดิปีน(Cilnidipine)เป็นยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์(Calcium channel blocker) ถูกพัฒนาโดยความร่วมมือของ บริษัทในประเทศญี่ปุ่น คือ Fuji Viscera Pharmaceutical Company และ Ajinomoto ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูงในปี ค.ศ.1995(พ.ศ.2538) โดยมีการจัดจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี และประเทศต่างๆแถบทวีปยุโรป รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของตัวยาซิลนิดิปีนเป็นยาชนิดรับประทาน จากรายงานวิจัยพบว่าการรับประทานยานี้ขนาด 5–20 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 1–3 สัปดาห์ สามารถควบคุมอาการความดันโลหิตสูงให้กลับมาเป็นปกติได้
อนึ่ง มีข้อสรุปทางคลินิกของยาซิลนิดิปีนที่โดดเด่น ดังนี้
- เมื่อเปรียบเทียบกับยาลดความดันโลหิตในกลุ่มเดียวกันอย่างเช่นยา Amlodipine รวมถึงยาขับปัสสาวะหลายๆตัว ยาซิลนิดิปีนจะลดการสูญเสียสารโปรตีนอย่างอัลบูมิน(Albumin)ไปกับน้ำปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกได้ว่ายาชนิดนี้ไม่เพิ่มภาระการทำงานกับไตมากกว่า ยาลดความดันโลหิตหลายๆตัว และยังช่วยป้องกันมิให้เซลล์ของไตเสื่อมเร็วจนเกินไป
- ยาซิลนิดิปีนทำให้การคลายตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย(LV diastolic function) กลับมาเป็นปกติได้มากขึ้น ส่งผลลดภาระการทำงานและทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนัก
- ยานี้ยังช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถใช้น้ำตาลกลูโคสได้ดีขึ้น ด้วยตัวยาซิลนิดิปีนทำให้เส้นเลือด/หลอดเลือดเกิดการขยายตัว แต่ไม่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติประเภทซิมพาธิติก ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มอัตราการนำน้ำตาลกลูโคสมาใช้ งานได้เพิ่มขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่ายาซิลนิดิปีนเป็นทางเลือกของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยก็ได้
- ยาซิลนิดิปีนมีกลไกลดการจับตัวของเกล็ดเลือด นอกจากจะทำให้เลือดไหลเวียน ทั่วร่างกายได้เป็นปกติแล้ว ยังส่งผลป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองตีบจากเกิด การอุดตันของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดอีกด้วย
สำหรับข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของยาซิลนิดิปีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังต่อไปนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกอันเนื่องมาจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่เพิ่งเกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยกล้ามหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจ ชนิดเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis) ด้วยยาซิลนิดิปีนสามารถเพิ่มความรุนแรงของอาการ โรคดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง การใช้ยาลดความดันโลหิตที่รวมถึงยาซิลนิดิปีน หรือยาชนิดใดๆ ควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ หรือขอคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกรก่อนเสมอ
- ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และในเด็กอย่างเด่นชัด ดังนั้นการจะใช้ยาซิลนิดิปีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- การจะใช้ยาชนิดใดๆร่วมกับยาซิลนิดิปีนต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อ เป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา
- หากพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มือ-เท้าบวม วิงเวียน ปวดศีรษะ เกิดความดันโลหิตต่ำ ปวดตา เจ็บหน้าอก กรณีเหล่านี้ แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วโดยไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
- ยาซิลนิดิปีนสามารถส่งผลกระทบเมตาบอไลท์(Metabolite)ของฮอร์โมนอิพิเนฟริน(Epinephrine)ที่มีชื่อเฉพาะว่ากรด Vanillylmandelic acid โดยจะทำให้สารเมตาบอไลท์ชนิดนี้ในปัสสาวะสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือด หรือการตรวจปัสสาวะ ควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบทุกครั้งว่า ตนเองได้รับยาชนิดใดอยู่แล้วบ้าง
- ผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิตเป็นประจำที่รวมถึงยาซิลนิดิปีนจะต้องหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และหากพบว่า ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ จะต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้
ในประเทศไทยอาจยังไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายยาซิลนิดิปีน ด้วยมียารักษาความดันโลหิตสูงที่ใช้เป็นทางเลือกอยู่หลายรายการ โดยในต่างประเทศยาซิลนิดิปีนถูกจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าต่างๆมากมาย แต่ชื่อการค้าที่รู้จักกันมายาวนาน คือ “Atelec” ซึ่งอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทยาประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
ซิลนิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
ซิลนิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนเป็นยาประเภท Calcium channel blocker จะออกฤทธิ์โดยลดการนำเข้าของประจุไฟฟ้าของแคลเซียมในกล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เลือดจึงมีการไหลเวียนได้สะดวกขึ้นจนเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ตามสรรพคุณ
ซิลนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cilnidipine ขนาด 5 ,10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
ซิลนิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5–10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ กรณีที่จำเป็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดของขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิลนิดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาซิลนิดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซิลนิดิปีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรรับประทานยาซิลนิดิปีนตรงตามขนาดและเวลาเดิมของแต่ละวัน การหยุดรับประทานยานี้โดยทันที อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
ซิลนิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ภาวะเหงือกงอกผิดปกติ(Gingival hyperplasia)
- ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกเฉื่อยชา มีไข้ ตัวสั่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผลต่อตับ เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้าม
- ผลต่อตา เช่น ปวดตา ตามืด/ตามองไม่เห็นชั่วขณะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ซึม
มีข้อควรระวังการใช้ซิลนิดิปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิลนิดิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยาพร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เพราะจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้สูงมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตต่ำมาก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องและตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตว่าเป็นปกติหรือไม่ตามแพทย์ เภสัชกร แนะนำ หากเกิดความดันโลหิตต่ำหรือสูง ผู้ป่วยควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วก่อนวันแพทย์นัด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซิลนิดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซิลนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิลนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิลนิดิปีนร่วมกับยาFluconazole เพราะจะทำให้ระดับยาซิลนิดิปีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยาซิลนิดิปีนสูงขึ้นตามมา
- ห้ามใช้ยาซิลนิดิปีนร่วมกับยา Aldesleukin , Alfuzosin ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิลนิดิปีนร่วมกับยา Imipramine, Isocarboxazid, Isoconazole ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงจากยาทุกชนิดดังกล่าวที่รวมถึงยาซิลนิดิปีนเมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาซิลนิดิปีนร่วมกับยาที่มี Calcium (เช่น Calcium carbonate)เป็นองค์ประกอบ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาซิลนิดิปีนด้อยลง
ควรเก็บรักษาซิลนิดิปีนอย่างไร?
ควรเก็บยาใซิลนิดิปีน ช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ซิลนิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาใซิลนิดิปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Atelec (เอทีเล็ก) | Ajinomoto Pharmaceuticals Co., Ltd. |
CARDOPIX (คาร์โดปิกซ์) | Curis |
CCAD (ซีซีเอดี) | Signova |
CCB-AH (ซีซีบี-เอเฮช) | Kardic Kare |
CD PIN (ซีดี พิน) | FDC |
CILACAR (ซิลาคาร์) | JB Chemicals (Unique) |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cilnidipine[2017,Oct14]
- https://www.eapharma.co.jp/news/2013/1213e.pdf[2017,Oct14]
- http://www.mims.com/india/drug/info/cilnidipine/?type=full&mtype=generic#Indications[2017,Oct14]
- http://www.japi.org/april_2016/22_dc_cilnidipine_next_generation.pdf[2017,Oct14]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB09232[2017,Oct14]