ซินาแคลเซท (Cinacalcet)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซินาแคลเซท(Cinacalcet หรือ Cinacalcet hydrochloride หรือ Cinacalcet HCl) เป็นยาในกลุ่มแคลซิมิเมติก(Calcimimetics) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดรักษาอาการโรคดังต่อไปนี้ เช่น

  • ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (Primary and secondary hyperparathyroidism)ในผู้ป่วยโรคไตเรื้องรัง
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคมะเร็งของต่อมพาราไทรอยด์(Parathyroid carcinoma) จากพาราไทรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกลำเลียงมากับกระแสเลือดจะทำให้มวลกระดูกปลดปล่อยแคลเซียมจากมวลกระดูกออกมาในเลือดอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้มีภาวะกระดูกพรุน ปริมาณแคลเซียมในเลือดที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆได้มากมาย อาทิเช่น
    • เกิดการรวมตัวของแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือดแดงทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ตลอดจนทำให้หลอดเลือดสมองแตก
    • ปริมาณแคลเซียมในเลือดที่มีมากยังทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ
    • กรณีของไต อาจเกิดการสะสมตะกอนแคลเซียมจนก่อตัวเป็นหินปูนจับในไตและทำให้มีภาวะไตวายได้
    • เซลล์ประสาทในสมองทำงานช้าลง ส่งผลให้รู้สึกไม่มีแรง และไม่ค่อยมีสมาธิ จนกระทั่งเกิดอาการอ่อนแรงแบบเรื้อรัง
    • สำหรับระบบทางเดินอาหารจะได้รับผลกระทบโดยเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายมากขึ้น (Gastroesophageal reflux disease)
    • มีรายงานเกิดความเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต

อาจกล่าวได้ว่าการควบคุมภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกินไป สามารถป้องกัน โรคร้ายแรงได้หลายประเภท ยาซินาแคลเซท จึงจัดว่าเป็นยาอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้า มามีบทบาททางคลินิก รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้/ยานี้เป็นแบบรับประทาน การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของตัวยาทำได้เพียง 20–25% การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยทำให้มีการดูดซึมตัวยาเพิ่มมากขึ้น และตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยาซินาแคลเซทอย่างต่อเนื่อง โดยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30–40 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาในกระแสเลือดสลายตัวและถูกขับทิ้งไปทางปัสสาวะและอุจจาระ

ในต่างประเทศ เราจะพบเห็นการจำหน่ายยาซินาแคลเซทภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Sensipar ซึ่งมีขนาดความแรงแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ยาซินาแคลเซทจะถูกวางจำหน่ายในชื่อ Regpara คณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลให้เราไม่สามารถซื้อหายานี้ตามร้านขายยาทั่วๆไป แต่จะมีใช้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

ซินาแคลเซทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซินาแคลเซท

ขอสรุปสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาซินาแคลเซทที่ใช้รักษาอาการโรคต่างๆดังนี้

1. ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบปฐมภูมิ (Primary hyperparathyroidism)

2. ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต/การล้างไต(Secondary hyperparathyroidism in dialyzed patients)

3. บำบัดภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงด้วยเหตุมะเร็ง(Parathyroid carcinoma)

ซินาแคลเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแคลซิมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Calcium-sensing receptor(CaSR, คือสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่รับรู้ระดับแคลเซียมในเลือด)บนผิวเซลล์ของต่อมพาราไทรอยด์ ก่อให้เกิดสัญญาณกระตุ้นให้เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์ระงับการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน จึงทำให้ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดต่ำลงจนเกิดผลการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ซินาแคลเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซินาแคลเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Cinacalcet hydrochloride ขนาด 25, 30, 60 และ 90 มิลลิกรัม/เม็ด ในประเทศไทยจะพบเห็นการจำหน่ายที่ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม/เม็ด

ซินาแคลเซทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซินาแคลเซทมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต:

  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง และทุกๆ 2–4 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาปรับเพิ่มขนาดการรับประทานโดยเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ ทั่วไป ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/วัน

ข. พาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบปฐมภูมิและพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงด้วยเหตุมะเร็ง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และทุกๆ 2–4 สัปดาห์แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาให้สูงขึ้นตามดุลพินิจของแพทย์ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 90 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน

อนึ่ง:

  • หลีกเลี่ยงการหักแบ่งเม็ดยา ให้กลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำดื่ม
  • ควรรับประทานยานี้หลังมื้ออาหาร
  • สามารถใช้ซินาแคลเซทเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับวิตามินดีโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • หลังจากใช้ยานี้ไปแล้ว 1–4 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องเข้ามารับการตรวจเลือด เพื่อดูระดับ แคลซียม ฟอสฟอรัส และระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ตามแพทย์สั่ง
  • ผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในด้านความปลอดภัยถึงการใช้ยานี้และขนาดยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซินาแคลเซท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซินาแคลเซทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ซินาแคลเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซินาแคลเซทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดสูง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ วิงเวียน ชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน(Testosterone)ในร่างกายลดลง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เกิดตะคริว ปวดหลัง เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน หายใจขัด

มีข้อควรระวังการใช้ซินาแคลเซทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซินาแคลเซท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มแคลซิมิเมติก
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องรับการตรวจเลือดตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด
  • ระวังการเกิดภาวะลมชัก
  • กรณีพบว่ามีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร สังเกตจากมีอุจจาระสีคล้ำเหมือนยางมะตอย ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เป็นประจำ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซินาแคลเซทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซินาแคลเซทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซินาแคลเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซินาแคลเซท ร่วมกับยาTamoxifen ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของTamoxifen ด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซินาแคลเซท ร่วมกับยา Pimozide ด้วยจะทำให้ระดับยา Pimozide ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาซินาแคลเซท ร่วมกับยาEtelcalcetide เพราะจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำเกินไป หากจำเป็นต้องใช้ยาEtelcalcetide ต้องหยุดใช้ยาซินาแคลเซทไปแล้ว 7 วันเป็นอย่างต่ำจึงหันมาใช้ยาEtelcalcetide ได้

ควรเก็บรักษาซินาแคลเซทอย่างไร?

ควรเก็บยาซินาแคลเซท ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บ ยาที่หมดอายุ และ ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลอง

ซินาแคลเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซินาแคลเซท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sensipar (เซนซิพาร์) Amgen
Regpara (เร็กพารา)Kyowa Hakko Kirin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cinacalcet [2018,June2]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/regpara/?type=brief [2018,June2]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cinacalcet/?type=brief&mtype=generic [2018,June2]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/021688s017lbl.pdf [2018,June2]
  5. https://www.youtube.com/watch?v=sD9st1ZPFrQ [2018,June2]
  6. https://www.drugs.com/cdi/cinacalcet.html [2018,June2]
  7. https://www.drugs.com/dosage/cinacalcet.html [2018,June2]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/cinacalcet-index.html?filter=3#T [2018,June2]