ซิตี้โกไลน์ (Citicoline or CDP-Choline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิตี้โกไลน์(Citicoline) หรือจะเรียกว่า ซีดีพี-โคลีน (CDP-Choline; Cytidine diphosphate-choline) หรือ Cytidine 5'-diphosphocholine เป็นยาประเภท นูโทรปิก(Nootropics หรือ Nootropic drug) ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการรับรู้ของสมองโดยมีกลไกเพิ่มสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า โดพามีน(Dopamine)และฟอสฟาทิดิลโคลีน (Phosphatidylcholine)ในสมอง และมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลลดความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองในภาวะที่ได้รับบาดเจ็บ ยานี้ถูกพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง หลายประเทศในยุโรปนำมาใช้เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับปัญหาการไหลเวียนโลหิตในสมอง สหรัฐอเมริกาได้รับรองยาซิตี้โกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม

ประโยชน์ทางคลินิกของยาซิตี้โกไลน์ เช่น ใช้ยานี้ช่วยรักษาอาการในผู้ป่วยพาร์กินสัน, อาการอัลไซเมอร์, ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ, ใช้ช่วยปรับปรุงการมองเห็นในผู้ป่วยต้อหิน, ใช้ช่วยบำบัดอาการในผู้ที่ติดยาโคเคน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซิตี้โกไลน์ จะเป็นยารับประทาน และยาฉีด ตัวยานี้สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 90% ในกระแสเลือด ยาซิตี้โกไลน์ส่วนหนึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายโดยเปลี่ยนเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์(Carbon dioxide) และผ่านทิ้งไปกับลมหายใจ และเมื่อเวลาผ่านไปอีกประมาณ 24 ชั่วโมง ยานี้ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ

การใช้ยาซิตี้โกไลน์ในระยะสั้นไม่เกิน 90 วัน จัดอยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่การใช้ยานี้ต่อเนื่องในระยะยาว ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยแน่ชัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ใช้ยานี้ มักจะไม่พบผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายเท่าใดนัก แต่บางรายอาจได้รับผลข้างเคียงบางอย่างตามมา เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ท้องเสีย สายตาพร่ามัว คลื่นไส้ ความจำเสื่อม ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ แน่นหน้าอก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาซิตี้โกไลน์เป็นยาอันตราย การเลือกใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว และห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง

ซิตี้โกไลน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซิตี้โกไลน์

ยาซิตี้โกไลน์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยบำบัดอาการอัลไซเมอร์ อาการความจำเสื่อม
  • บำบัดอาการพาร์กินสัน อาการสมาธิสั้น
  • บำบัดผู้ติดยาเสพติดโคเคน
  • ปรับปรุงการมองเห็นในผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • บำบัดอาการที่มีเหตุจากเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ

ซิตี้โกไลน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

โดยทั่วไป กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิตี้โกไลน์จะเกิดขึ้นที่สมอง โดยตัวยาจะช่วยให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท อย่างเช่น Dopamine และ Phosphatidyl choline จึงช่วยทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้เอง จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ซิตี้โกไลน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิตี้โกไลน์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/ มิลลิลตร
  • ยาฉีด ขนาด 1000 มิลลิกรัม/ขวด

ซิตี้โกไลน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซิตี้โกไลน์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200-600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิตี้โกไลน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิตี้โกไลน์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิตี้โกไลน์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซิตี้โกไลน์ตรงเวลา

ซิตี้โกไลน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เมื่อใช้ยาซิตี้โกไลน์ในขนาดและในระยะเวลาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา เท่าที่มีรายงาน เช่น ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ รวมถึงรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง

มีข้อควรระวังการใช้ซิตี้โกไลน์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิตี้โกไลน์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิตี้โกไลน์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิตี้โกไลน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิตี้โกไลน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซิตี้โกไลน์ร่วมกับยา Levodopa อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากยา Levodopa ได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาซิตี้โกไลน์พร้อมสุรา เพราะจะทำให้อาการโรคของผู้ป่วยแย่ลง

ควรเก็บรักษาซิตี้โกไลน์อย่างไร?

ควรเก็บยาซิตี้โกไลน์ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซิตี้โกไลน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิตี้โกไลน์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Somazina (โซมาซินา) Ferrer

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Acholine, Brainact, Citicare, Citifest, Citilin, Cyscholin, Nutam, Citicolina, Ying Di Te

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Citicoline [2016,Sept24]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/somazina/?type=brief [2016,Sept24]
  3. http://www.phosphatidylcholine.org/ [2016,Sept24]
  4. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1090-citicoline.aspx?activeingredientid=1090 [2016,Sept24]