ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิงค์ ไพริไธโอน(Zinc pyrithione) เป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่มีธาตุสังกะสี(Zinc หรือสัญญลักษณ์ว่า Zn) เป็นองค์ประกอบ ยาซิงค์ ไพริไธโอน มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ทางคลินิกจึงนำสารเชิงซ้อนชนิดนี้มาบำบัดรักษา รังแคและโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม/ โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาซิงค์ ไพริไธโอน ที่พบเห็นในประเทศเรา มักจะเป็นแชมพูสระผมป้องกันรังแค ต่างประเทศสามารถพบยาซิงค์ ไพริไธโอนทั้งใน แชมพู และสเปรย์ผิวหนัง

ยาซิงค์ ไพริไธโอน ถูกรับรองให้ใช้แต่ภายนอกร่างกายเท่านั้น การรับประทานยา/สารเชิงซ้อนชนิดนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือแม้แต่การสัมผัสทางผิวหนังโดยตรงก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเช่นกัน

นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยการใช้ สารซิงค์ ไพริไธโอนต่อ สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ในทางปฏิบัติจึงไม่แนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอนกับผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ยาซิงค์ ไพริไธโอน ผู้บริโภคควรต้องอ่านเอกสารกำกับตัวผลิตภัณฑ์ และทำความเข้าใจเสียก่อน หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอน เสมอ

ซิงค์ ไพริไธโอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซิงค์ไพริไธโอน

ยาซิงค์ ไพริไธโอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้กำจัดเชื้อราบริเวณผิวหนังที่เป็นสาเหตุของ รังแค และโรคเซบเดิร์ม

อนึ่ง บริษัทผู้ผลิตจะจัดจำหน่าย ซิงค์ ไพริไธโอน ในรูปแบบ แชมพูสระผมป้องกันรังแค หรือสเปรย์สำหรับพ่นบริเวณผิวหนัง

ซิงค์ ไพริไธโอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซิงค์ ไพริไธโอน มีกลไกยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อรา โดยออกฤทธิ์ปิดกั้นการส่งผ่านโปรตอน(Proton pump)ในบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา การส่งผ่านโปรตอนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในลักษณะเป็นเยื่อเลือกผ่านของเยื่อหุ้มเซลล์ จากกลไกดังกล่าวทำให้สมดุลการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์เสียสภาพ และส่งผลให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราโดนทำลายลง

ซิงค์ ไพริไธโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ซิงค์ ไพริไธโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • แชมพูสระผม
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับสเปรย์ผิวหนังที่ประกอบด้วย Zinc pyrithione เข้มข้น 0.25%

ซิงค์ ไพริไธโอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ซิงค์ ไพริไธโอนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษารังแคที่หนังศีรษะ:

  • ผู้ใหญ่: กรณีใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์
    • เขย่าขวดสเปรย์ก่อนพ่นบนผิวหนัง
    • สเปรย์หนังศีรษะที่เป็นรังแค คิดเป็นระยะทางบนผิวหนัง 4–6 นิ้ว วันละ 1–3 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ หรือ ทำตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ใหญ่ : กรณีแชมพู ซิงค์ ไพริไธโอน
    • ชโลมผมด้วยน้ำจนเปียก
    • สระผมด้วยแชมพูซิงค์ ไพริไธโอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นอย่างต่ำ หรือ ทำตามคำแนะนำของแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลรับรองด้านประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ข. สำหรับรักษาโรคเซบเดิร์ม:

  • ผู้ใหญ่: กรณีใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์
    • สเปรย์ผิวหนังที่เป็นโรคเซบเดิร์มคิดเป็นระยะทางบนผิวหนัง 4–6 นิ้ว วันละ 1–3 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือ ทำตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ใหญ่: กรณีแชมพู ซิงค์ ไพริไธโอน
    • หากโรคเซบเดิร์มขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ให้ใช้แชมพูซิงค์ ไพริไธโอนสระผม 2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลรับรองด้านประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยาซิงค์ ไพริไธโอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิงค์ ไพริไธโอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอนควรทำอย่างไร?

กรณีลืมใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอน ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ผลิตภัณฑ์ในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้เป็น 2 เท่า ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขนาดปกติเท่านั้น

ซิงค์ ไพริไธโอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา ของยาซิงค์ ไพริไธโอน เช่น

  • สามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง/หนังศีรษะได้
  • กรณีที่มีอาการแพ้
    • อาจพบเห็นผิวหนัง/หนังศีรษะที่สัมผัสยานี้เกิด ผื่นคัน บวมแดง เป็นตุ่ม หรือไม่ก็ทำให้ผิวลอก
    • กรณีอาการรุนแรง อาจทำให้เกิด
      • มีไข้
      • แน่นหน้าอก /หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
      • ปากบวม ใบหน้าบวม

***** หากพบอาการแพ้ซิงค์ ไพริไธโอนเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล กรณีอาการรุนแรง ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ ไพริไธโอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ ไพริไธโอน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา/แพ้สารประกอบซิงค์ ไพริไธโอน
  • ระวัง/ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอนกับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้าม รับประทาน หรือให้ยานี้เข้าตา
  • ศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์จากเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์ และ/หรือทำตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • กรณีใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อปรับแนวทางรักษากัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิงค์ ไพริไธโอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยผลิตภัณฑ์ยาซิงค์ ไพริไธโอน ถูกออกแบบมาให้ใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่มี รายงานปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาซิงค์ ไพริไธโอนอย่างไร?

ควรเก็บรักษาซิงค์ ไพริไธโอน เช่น

  • เก็บผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไธโอนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ฯในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ฯที่หมดอายุ
  • เก็บผลิตภัณฑ์ฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ฯในรถยนต์
  • เก็บผลิตภัณฑ์ฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์ฯลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ซิงค์ ไพริไธโอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ซิงค์ ไพริไธโอน มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clear (เคลียร์)Unilever
Head & Shoulders (เฮดแอนโชลเดอร์)P&G

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/pyrithione-zinc-topical.html [2019,March23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_pyrithione [2019,March23]
  3. https://www.drugs.com/cdi/pyrithione-zinc-bar.html [2019,March23]
  4. http://www.clearadth.com/article/detail/1038483/- [2019,March23]
  5. https://www.drugs.com/cdi/head-shoulders-2-in-1.html [2019,March23]
  6. https://www.wikidoc.org/index.php/Zinc_pyrithione [2019,March23]