ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate หรือ Zinc sulfate) เป็นสารประกอบอนินทรีย์ สูตรทางเคมีคือ ZnSO4 การผลิตเพื่อวัตถุประสงค์นำมาเป็นยารักษาโรค ต้องใช้ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ที่เป็นเกรดบริสุทธิ์ทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) และน้ำ ทางเภสัชกรรมนำมาผลิตเป็นยารับประทานและยาใช้ภายนอก

หลังการรับประทานซิงค์ซัลเฟต พบว่ายานี้จะถูกกำจัดออกทางอุจจาระประมาณ 90% ที่เหลือจะขับออกทางปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบและป่วยด้วยโรคท้องร่วง ต้องได้รับ ธาตุสังกะสี (Zn: Zinc) เสริมการรักษา 10 - 14 วัน เพื่อลดอาการรุนแรงและป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ กระทรวงสาธ่ารณสุขของไทยบรรจุซิงค์ซัลเฟตลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยใช้เป็นเกลือแร่กับผู้ป่วยที่ร่างกายขาดธาตุสังกะสี ใช้สนับสนุนการรักษาอาการท้องเสียในเด็ก ยาทารัก ษาผิวหนัง ยาหยอดตา เป็นต้น

ซิงค์ซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซิงค์ซัลเฟต

ยาซิงค์ซัลเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะขาดธาตุสังกะสี
  • เป็นส่วนผสมของยาหยอดตา เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง
  • ใช้เสริมแร่ธาตุสังกะสี โดยเป็นส่วนผสมของนมที่ใช้เลี้ยงเด็กเล็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ซิงค์ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ในรูปแบบยาหยอดตา: ซิงค์ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะสมานหรือตกตะกอนโปร ตีน มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เล็กน้อย พร้อมกับช่วยขยายหลอดเลือดในลูกตา

สำหรับยารับประทาน: ซิงค์ซัลเฟตเป็นยาเสริมแร่ธาตุในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดธาตุสังกะสี โดยธาตุสังกะสีในซิงค์ซัลเฟตจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย

ซิงค์ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิงค์ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาด 66 และ 110 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบวิตามินเสริมแร่ธาตุ บำรุงร่างกาย ชนิดเม็ด และแคปซูล
  • รูปแบบผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กเล็ก
  • รูปแบบยาหยอดตา ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ซิงค์ซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซิงค์ซัลเฟตมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายขาดธาตุสังกะสี: เช่น

  • ผู้ใหญ่ : รับประทาน 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : สำหรับผู้ป่วยเด็กด้วยโรคท้องเสีย โดยข้อตกลงขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำขนาดรับประทาน ดังนี้คือ
    • เด็กเล็กช่วงอายุมากกว่า 6 เดือน: รับประทานธาตุสังกะสีเมื่อมีภาวะท้องเสีย 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา10 - 14 วัน
    • เด็กเล็กช่วงอายุต่ำกว่า 6 เดือน: รับประทาน ธาตุสังกะสี 10 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 10 - 14 วัน

ข. สำหรับยาหยอดตา: เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดตา 1 - 2 หยด วันละ 2 - 4 ครั้ง/วัน
  • เด็ก: การใช้ยาขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และอายุของเด็ก จึงต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซิงค์ซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาซิงค์ซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือ กับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิงค์ซัลเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ซิงค์ซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซิงค์ซัลเฟตสามารถก่อให้เกิด ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • การรับประทานธาตุสังกะสีนานเกินไป อาจทำให้ร่างกายขาดธาตุทองแดง (ทองแดง มีคุณสมบัติช่วยในการเสริมสร้างให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้เอนไซม์ต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานต่างๆ)ได้

มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ซัลเฟตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิงค์ซัลเฟต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยาซิงค์ซัลเฟตทั้งในรูปแบบยารับประทานและยาฉีด ควรต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (การตรวจซีบีซี/CBC), ปริมาณคอเลสเตอรอล และปริมาณธาตุทองแดงในเลือดว่าปกติหรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิงค์ซัลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซิงค์ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิงค์ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาซิงค์ซัลเฟตร่วมกับยาดังต่อไปนี้ จะทำให้การดูดซึมของยาซิงค์ซัลเฟต และยาเหล่านั้น จากระบบทางเดินอาหารลดน้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยาที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เช่นยา Ferrous sulfate
    • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) บางชนิด เช่นยา Tetracyclines
    • ยาแก้อาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ เช่นยา Penicillamine
  • การรับประทานยาซิงค์ซัลเฟตร่วมกับอาหารหรืออาหารเสริมที่มีแร่ธาตุฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ สามารถลดการดูดซึมของยาซิงค์ซัลเฟตได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • การรับประทานยาซิงค์ซัลเฟตร่วมกับยาบางกลุ่ม ยาซิงค์ซัลเฟตจะไปลดการดูดซึมของยากลุ่มดังกล่าว อาทิเช่น
    • ยาที่มีส่วนผสมของทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น Cupric chloride
    • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ บางชนิด เช่นยา Ciprofloxacin, Levofloxacin, Moxifloxacin, Norfloxacin, และ Offloxzcin

ควรเก็บรักษาซิงค์ซัลเฟตอย่างไร?

ควรเก็บยาซิงค์ซัลเฟต เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส (Celcius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง /แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ซิงค์ซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิงค์ซัลเฟต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Biotrat (ไบโอเทรต) Biodeal
Imugins (อิมูจิน) Schumit
Multicap (มัลติแคป) Sriprasit Dispensary
Obimin-AZ (โอบิมิน-เอแซท) Great Eastern
Oculosan (อ็อกคูโลซาน) Excelvision AG
Opplin (ออพพลิน) Thai Nakorn Patana
Topper-M (ทอปเปอร์-เอ็ม) Chinta
Visotone (วิโซโทน) British Dispensary (L.P.)
Vitacap (ไวต้าแคป) Neopharm
Vitaral SM (วิทารอล เอสเอ็ม) Kenyaku
Vitop (ไวท็อป) Olan-Kemed
Zincaps (ซิงค์แคป) ST Pharma
Zincate (ซิงค์เคท) ST Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_sulfate [2020,Dec5]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fzinc%2520sulfate%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec5]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=zinc%20sulfate [2020,Dec5]
  4. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fZincate%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec5]