ซาโมเทอรอล (Xamoterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซาโมเทอรอล(Xamoterol หรือ Xamotero fumarate) เป็นยาในกลุ่ม Beta1 adrenergic agonist มีการออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวและมีอัตราการเต้นเพิ่มขึ้น ทางคลินิกจึงนำมาใช้บำบัดอาการหัวใจล้มเหลว ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเพียงประมาณ 9% เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ 3% ตัวยานี้จะถูกตับทำลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ที่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยขณะนี้ จะเป็นรูปแบบของยารับประทาน

นักวิทยาศาสตร์เคยเปรียบเทียบการใช้ยาซาโมเทอรอลรักษาอาการหัวใจล้มเหลวโดยใช้ยาขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปรียบเทียบกับ ยา Digoxin ขนาด 0.125 มิลลิกรัม เช้า-เย็น หรือ เช้า-กลางวัน-เย็น พบว่าตัวยาทั้งคู่ สามารถทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น แต่ในภาพรวม ยาซาโมเทอรอลจะมีประสิทธิผลการ รักษามากกว่า Digoxin นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังสามารถใช้ยาซาโมเทอรอลในลักษณะของยาเดี่ยวได้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีความรุนแรงระดับปานกลางลงมา

ผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการใช้ยาซาโมเทอรอล ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต เป็นต้น

จากข้อมูลการใช้ยาซาโมเทอรอลกับอาสาสมัครพบว่า ตัวยาซาโมเทอรอลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลวตัวอื่น เช่น ทำให้มีความดันโลหิตต่ำ และหลอดลมหดเกร็งตัวจนอาจเกิดหายใจลำบาก

กรณีหลังใช้ยาซาโมเทอรอล แล้วพบว่าเกิดอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นผิดปกติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ปัจจุบันเราจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยาซาโมเทอรอลสักเท่าใดนัก อาจเป็นด้วยมียาทางเลือกอื่นๆที่ใช้ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพเหนือกว่ายานี้

ซาโมเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซาโมเทอรอล

ยาซาโมเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาอาการหัวใจล้มเหลวตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อยไปจนถึงความรุนแรงระดับปานกลาง

ซาโมเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซาโมเทอรอลเป็นยาประเภท Beta1 adrenergic agonist จึงมีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ชนิด Beta receptor ที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณ

ซาโมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่พบเห็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์เพื่อการค้า แต่ด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิก มีการใช้ยานี้ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อการรับประทานแต่ละครั้ง

ซาโมเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซาโมเทอรอล มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรได้รับการตรวจความดันโลหิตเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซาโมเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซาโมเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซาโมเทอรอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติตามคำสั่งแพทย์

ซาโมเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซาโมเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัวทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ซาโมเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซาโมเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดรับประทาน ที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก เป็นต้น
  • ตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้กลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาโมเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซาโมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่พบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาของยาซาโมเทอรอลกับยาชนิดอื่น อาจด้วยสาเหตุจากการใช้ยาชนิดนี้ยังมีน้อยอยู่

ควรเก็บรักษาซาโมเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาซาโมเทอรอลตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ซาโมเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ปัจจุบัน ถึงแม้ยังไม่พบการจัดจำหน่ายยาซาโมเทอรอลในลักษณะยาแผนปัจจุบันอย่างกว้างขวาง แต่ก็จะพบเห็นการจัดจำหน่ายในยาชื่อการค้า ดังต่อไปนี้ คือ

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sepan (เซปาน)Yamanouchi

บรรณานุกรม

  1. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=757&type=1#Dosage[2017,May13]
  2. https://academic.oup.com/eurheartj/search-results?f_TocHeadingTitle=Short%20Communications[2017,May13]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Xamoterol[2017,May13]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2572251[2017,May13]
  5. https://books.google.co.th/books?id=_J2ti4EkYpkC&pg=PA3467&lpg=PA3467&dq=who+is+a+Manufacturers+of+Xamoterol+(Fumarate)&source=bl&ots=N5nwKexPyt&sig=_Oo-3YVlzqgnXH2RroWw_bCPFV0&hl=th&sa=X&ved=0ahUKEwiv6e_xhbjTAhVMpY8KHaXvAxkQ6AEINTAB#v=onepage&q=who%20is%20a%20Manufacturers%20of%20Xamoterol%20(Fumarate)&f=false[2017,May13]