ซาเลปลอน (Zaleplon)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ซาเลปลอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซาเลปลอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซาเลปลอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซาเลปลอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซาเลปลอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซาเลปลอนอย่างไร?
- ซาเลปลอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซาเลปลอนอย่างไร?
- ซาเลปลอนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
บทนำ
ยาซาเลปลอน(Zaleplon) เป็นยาในกลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน(Non-benzodiazepine)คือกลุ่มยานอนหลับที่ไม่ใช่กลุ่มยา Benzodiazepine ทางการแพทย์ได้ใช้เป็นยารักษาอาการนอนไม่หลับโดยมีระยะเวลาการใช้ยานี้ในช่วงสั้นๆ ตัวยานี้จะออกฤทธิ์โดยกดการทำงานระบบประสาทหรือสมองจนทำให้เกิดอาการง่วงนอน ยาซาเลปลอนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน หลังตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ยาซาเลปลอนจะมีเวลาอยู่ในร่างกายประมาณ 1–1.5 ชั่วโมงก่อนจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อห้ามและข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาซาเลปลอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานๆกับผู้สูงอายุ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ห้ามใช้ยาซาเลปลอนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยานี้ไปถึงทารก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้มีประวัติติดสาร/ยาเสพติด ผู้ที่ติดสุรา รวมถึงผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หรือผู้ป่วยด้วยโรคจิต ด้วยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยานี้ต่อร่างกายผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ
- ด้วยตัวยานี้ถูกทำลายโดยตับ และถูกขับทิ้งโดยไต การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Cimetidine หรือยา Sodium oxabate ด้วยการใช้ยาร่วมกัน จะทำให้ระยะเวลาการนอนหลับของผู้ป่วยยาวนานขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าใดนัก
- ห้ามใช้ยาซาเลปลอนร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin หรือ Rifampin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยาซาเลปลอนลดต่ำลง
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารที่มีไขมันสูงๆ ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของ ตัวยานี้ช้าลงกว่าเดิม
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยานี้ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย ดังนั้นระหว่างได้รับยานี้ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด
- หากใช้ยานี้แล้ว อาการนอนหลับยากไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามรับประทานยานี้ เกินจากคำสั่งแพทย์ ด้วยจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้ จนอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
- *ผู้บริโภคสามารถสังเกตอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น ซึม สับสน สูญเสียการครองสติและการทรงตัว จนถึงขั้นโคม่า ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากรู้สึกวิงเวียนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า อาจเกิดจากฤทธิ์ของยาซาเลปลอนที่ตกค้างในร่างกาย ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ยาซาเลปลอนเป็นยาที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ในระยะสั้นๆ การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง ทั้งนี้ในต่างประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาซาเลปลอนภายใต้ชื่อการค้าว่า “Sonata”
ซาเลปลอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซาเลปลอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการนอนไม่หลับ
ซาเลปลอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซาเลปลอน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมองโดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ GABAA receptors จึงทำให้เกิดภาวะสงบประสาท มีความรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยทำให้นอนหลับ
ซาเลปลอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซาเลปลอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Zaleplon ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
ซาเลปลอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซาเลปลอนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 10 มิลลิกรัม ก่อนนอน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 5 มิลลิกรัม ก่อนนอนโดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ใช้ยานี้ตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดให้เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซาเลปลอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาซาเลปลอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซาเลปลอน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
ซาเลปลอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซาเลปลอนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน สับสน อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง ผิวแห้ง เหงื่อออกมาก ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่อักเสบ ท้องผูก ปากแห้ง ท้องอืด หลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ช่องปากเป็นแผล
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหารหรือไม่ก็หิวอาหารบ่อย เกิดโรคเกาต์คุกคาม ไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เส้นเอ็นอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ปวดตา เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน วิตกกังวล ซึม กระสับกระส่าย ความรู้สึกทางเพศลดลง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ หอบหืด ปอดบวม นอนกรน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้าลง หลอดเลือดขยายตัว ตัวเขียว/อาการเขียวคล้ำ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง
- ผลต่อไต: เช่น เกิดนิ่วในไต ปวดบริเวณไต
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น อาจเกิดภาวะเบาหวาน ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ซาเลปลอนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาเลปลอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดขณะใช้ยานี้
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
- ระวังเรื่องการทรงตัวในช่วงตื่นนอนหรือก่อนการลุกขึ้นยืน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหลอดลมอักเสบขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และ ต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซาเลปลอนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ
ซาเลปลอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซาเลปลอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาซาเลปลอนร่วมกับยาอื่นๆบางตัว สามารถทำให้ฤทธิ์สงบ/กดประสาท มีมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา TCAs , Antihistamines, Narcotic analgesics, Thioridazine, และ Diphenhydramine
- การใช้ยาซาเลปลอนร่วมกับร่วมกับยาอื่นๆบางประเภทจะทำให้เกิดการกดประสาทส่วนกลางส่งผลให้หายใจลำบาก จนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Alfentanil, Buprenorphine , Codeine, Fentanyl ,Morphine , Oxycodone, Tramadol
ควรเก็บรักษาซาเลปลอนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาซาเลปลอน ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsisus) ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซาเลปลอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซาเลปลอน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Sonata (โซนาตา) | King Pharmaceuticals Inc |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นในต่างประเทศของยานี้ เช่น Starnoc, Andante , Hypron, Stilnite, Zalep, Zalpilo
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zaleplon[2017,July8]
- https://www.drugs.com/cdi/zaleplon.html[2017,July8]
- https://www.drugs.com/dosage/zaleplon.html[2017,July8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/zaleplon-index.html?filter=3&generic_only=#R[2017,July8]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/zaleplon/?type=brief&mtype=generic[2017,July8]