ซาลซาเลต (Salsalate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซาลซาเลต (Salsalate) เป็นยาต้านฤทธิ์การอักเสบที่อยู่ในประเภทยาเอ็นเสด (NSAID) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบ โรคข้อรูมาตอยด์ หรืออาการอักเสบอื่นที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นสมควรให้ใช้ยานี้ โดยซาลซาเลตจะคอยยับยั้งและปิดกั้นสารที่กระตุ้นการอักเสบและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดของร่างกาย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซาลซาเลตที่พบเห็นจะเป็นยาชนิดรับประทาน ยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์เมื่อรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 3 - 4 วันขึ้นไป ก่อนการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซาลซาเลตจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีภายในลำไส้เล็กจนได้กรดที่มีชื่อว่าซาลิไซลิก (Salicylic acid/สารที่ช่วยลดอาการปวดและลดไข้ได้) ออกมา ร่างกายสามารถกำจัดยาซาลซาเลตได้เพียงประมาณ 13% จากปริมาณยาในกระแสเลือด (ตัวยาจึงอยู่ในร่างกายได้นาน) โดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ

อนึ่ง ก่อนที่แพทย์จะสั่งจ่ายยาซาลซาเลต ผู้ป่วยมักจะถูกซักประวัติสุขภาพและมีคำถามต่างๆ เช่น

  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่
  • ถ้ามีบุตร เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
  • มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารหรือไม่
  • ป่วยเป็นโรคตับ โรคไต โรคหืด แผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้/แผลเปบติก หรือมีภาวะโรคหัวใจ ภาวะเลือดออกง่าย หรือความดันโลหิตสูง หรือไม่
  • รับประทานยาอะไรอยู่ก่อน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่หรือไม่

ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์เพื่อนำมาประกอบในการตรวจรักษา

ซาลซาเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซาลซาเลต

ยาซาลซาเลตมีสรรพคุณใช้รักษาและบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์

ซาลซาเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซาลซาเลตมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารที่มีชื่อว่า Prostaglan din (สารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและการปวด) และส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการป้องกันการเกิดสาร Thromboxane A2 (สารเกี่ยวข้องกับการทำงานของเกล็ดเลือด) นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ที่ศูนย์ควบ คุมอุณหภูมิของร่างกายที่สมองส่วนไฮโปธาลามัสทำให้อาการไข้ลดลง จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้ซาลซาเลตมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ซาลซาเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซาลซาเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 และ 750 มิลลิกรัม/เม็ด

ซาลซาเลตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซาลซาเลตมีขนาดรับประทานดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานได้จนถึง 3 กรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งหรือตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร นม หรือยาลดกรด เพื่อลดอาการระคายเคืองที่กระเพาะอาหารและลำไส้

  • เด็ก: เนื่องจากโรคที่รักษาด้วยยานี้เป็นโรคของผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซาลซาเลต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซาลซาเลตอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซาลซาเลตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

ซาลซาเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซาลซาเลตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยา พูดไม่ชัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามร่างกาย น้ำหนักเพิ่ม อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก แสบหน้าอก/แสบร้อนกลางอก วิงเวียน เกิดพิษกับตับและไต เกิดภาวะโลหิตจางประเภท Iron-deficiency anemia ตาพร่า เลือดออกง่ายโดยมีสภาวะ Hypoprothrombinemia ร่วมด้วย Reye’s syndrome อุจจาระมีสีเข้ม อาเจียนเป็นเลือด หูดับ หัวใจเต้นเร็ว

อนึ่ง อาการข้างเคียงข้างต้นอาจจะทวีความรุนแรงได้มากขึ้น ถ้าใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหอบหืด ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ วิงเวียนอย่างรุนแรง เหงื่อออก หายใจถี่/หายใจเร็ว อาเจียนอย่างหนัก รู้สึกสับสน และอาจมีอาการชักร่วมด้วย หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้ซาลซาเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลซาเลตดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาแอสไพริน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะเลือดออกง่าย โรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะ – ลำไส้ (โรคแผลเปบติค) ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะโลหิตจาง ด้วยเม็ดเลือดแตก
  • ขณะใช้ยานี้ให้ระวังการเกิดภาวะหัวใจวายโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยาเป็นเวลานานๆ และควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • อาการข้างเคียงต่างๆอาจเกิดและรุนแรงขึ้นมาโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆโดยเฉพาะเมื่อใช้ยากับผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่นที่ป่วยและมีไข้หรือมีไข้จากโรคหวัด ด้วยยาซาลซาเลตอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะ Reye’s syndrome กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาลซาเลตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซาลซาเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซาลซาเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาซาลซาเลตร่วมกับยา Adefovir, Tenofovir อาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาซาลซาเลตร่วมกับยาหยอดตา Brinzolamide (ยาลดความดันในลูกตา) อาจกระตุ้นให้ปวดศีรษะ ได้ยินเสียงก้องในหู คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ประสาทหลอน หายใจถี่/หายใจเร็ว มีไข้ และมีอาการชัก หรือเกิดอาการโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะ สมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาซาลซาเลตร่วมกับยา Cidofovir (ยาต้านไวรัส) ด้วยอาจกระตุ้นการทำลายไตเกิดขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะและหยุดการใช้ยาซาลซาเลตอย่างน้อย 7 วันก่อนการใช้ยา Cidofovir
  • การใช้ยาซาลซาเลตร่วมกับยา Hydrocortisone อาจเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาซาลซาเลตด้อยประสิทธิภาพลงไป และควรต้องเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาซาลซาเลตอย่างไร?

ควรเก็บยาซาลซาเลตภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

s

ซาลซาเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซาลซาเลตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Disalcid (ไดซาลซิด) 3M Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Salsalate[2015,May16]
  2. http://www.drugs.com/cdi/salsalate.html[2015,May16]
  3. https://www.mims.com/USA/drug/info/salsalate/?type=full&mtype=generic#Dosage[2015,May16]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/salsalate-index.html?filter=3&generic_only=[2015,May16]