ซาควินาเวียร์ (Saquinavir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) เป็นยาต้านไวรัส (Antiretroviral Agent) ชนิดรีโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งหมายรวมถึงไวรัสเอชไอวี (HIV; Human immunodeficiency virus) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าโรคเอดส์ (AIDS) โดยจัดอยู่ในกลุ่มยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของไวรัสเอชไอวี) หรือชื่อย่อว่าพีไอ (PIs) ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถนำโรคได้

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาซาควินาเวียร์เป็นหนึ่งในบัญชียาจำเป็นที่แนะนำให้แต่ละประเทศควรมีไว้ ยาซาควินาเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาอย่างสม่ำเสมอ

ยาซาควินาเวียร์มีสรรพคุณอย่างไร?

ซาควินาเวียร์

ยาซาควินาเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และ/หรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent) อื่นๆ

ยาซาควินาเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?

ก่อนการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของไวรัสเอชไอวีที่มีความสามารถในการนำโรคได้ ไวรัสนี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาในหลายขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาของไวรัสนี้เป็นไวรัสที่เจริญเติบโตเต็มที่คือการแบ่งโปรตีนที่มีชื่อว่า Gag และ Pol ออกจากกัน โดยอาศัยเอนไซม์ขื่อโปรตีเอส (Protease) โปรตีน Gag และ Pol เป็นโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างของตัวไวรัสเอชไอวีเองและการพัฒนาเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆที่ไวรัสจะใช้เพื่อการดำรงชีวิตเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่

ยาซาควินาเวียร์จะเข้าจับกับไวรัสเอชไอวีและทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors) ทำให้ไม่สามารถแยกโปรตีน Gag และ Pol ออกจากกันได้ ส่งผลให้เชื้อไวรัสนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นไวรัสที่ไม่มีความสามารถในการนำโรค

ยาซาควินาเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซาควินาเวียร์ในประเทศไทยมีรูปแบบจัดจำหน่ายเป็นเภสัชภัณฑ์ยาเม็ดขนาดความแรง 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาซาควินาเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซาควินาเวียร์มีขนาดยารับประทานที่แนะนำโดยทั่วไป สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 16 ปีคือ รับประทานครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม (หรือ 2 เม็ดของยาที่มีความแรง 500 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครังโดยให้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ขนาด 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง

ยาซาควินาเวียร์ควรรับประทานไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานยาซาควินาเวียร์อย่างเคร่งครัดตรงเวลาทุกวัน และต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาวะของโรค ไม่ควรหยุดรับประทานยาเมื่อมีอาการดีขึ้น

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาซาควินาเวียร์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้หัวข้อ ยาซาควินาเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?)
  • ประวัติโรคประจำตัวเช่น โรคตับ, โรคหัวใจเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, โรคไขมันในเลือดสูง หรือภาวะคอเลสเทอรอลในเลือดสูง, ประวัติคนในครอบครัวหรือตัวผู้ป่วยเองเป็นโรคเบาหวาน, เคยหรือกำลังดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีการตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรหากผู้ป่วยมีเชื้อเอชไอวีหรือกำลังใช้ยาซาควินาเวียร์
  • หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาซาควินาเวียร์

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซาควินาเวียร์ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้มื้อยาถัด ไป ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปเลยตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาซาควินาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาซาควินาเวียร์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) บางประการเช่น ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อย อ่อนเพลีย ริมฝีปากและผิวแห้ง ปวดหลัง หรือมีไข้ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบหรือมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

หากรับประทานยาซาควินาเวียร์แล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรือเกิดอาการข้างเคียงที่มีความรุนแรงเช่น ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง สูญเสียการรับรสชาติ ปวดท้องรุนแรง มึนงง รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นช้าลง เป็นลม ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ยาซาควินาเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาซาควินาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆดังต่อไปนี้

ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อไปนี้ร่วมกับยาซาควินาเวียร์

  • ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโตเช่น ยาแอลฟูโซซิน (Alfuzosin) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาแอลฟูโซซินในกระแสเลือดสูงขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และอัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้นจนเกิดอันตรายจากหัวใจล้มเหลว
  • ยาคลายเครียดเช่น ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam), ยามิดาโซแลม (Midazolam) เนื่องจากอาจทำให้ฤทธิ์ของยาเหล่านี้สูงขึ้น อาการข้างเคียงจากยาเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเช่น เกิดอาการสับสน เหนื่อยล้า อ่อนเพลียอย่างรุนแรง รวมไปถึงอาการหายใจลำบาก
  • ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) เพราะอาจส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ
  • ยารักษาภาวะกรดไหลย้อนเช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาซิซาไพรด์ในเลือดสูงขึ้นซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงของยาหรือพิษของยาต่อการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • ยาที่มีส่วนผสมของสารจำพวกเออร์กอต (Ergot) เช่น ยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) ที่นำมาใช้รักษาอาการไมเกรน เนื่องจากจะทำให้ระดับยาจำพวกเออร์กอตสูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดพิษของยาคือเกิดการตีบของเส้นเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้น้อยลง
  • ยาลดไขมันในเลือดเช่น ยาโลวาสแททิน (Lovastatin) และยาซิมวาสแททิน (Simvastatin) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาเหล่านี้สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการทำลายเซลล์ตับและการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
  • ยารักษาโรคจิตเภทได้แก่ ยาพิโมไซด์ (Pimozide) เนื่องจากทำให้ระดับยาพิโมไซด์ในเลือดสูงขึ้นอาจเกิดพิษจากยาเช่น การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  • ยารักษาภาวะเสื่อมสรรถภาพทางเพศชายได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) เนื่องจากทำให้ระดับยาซิลเดนาฟิลเลือดสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำหรือเกิดเกิดภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapsim)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น ยาไรวารอกซาแบน (Rivaroxaban) ทำให้ระดับยาไรวารอกซาแบนในเลือดสูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเลือดออก/ตกเลือด (Bleeding)

ข. ยาซาควินาเวียร์อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ: ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเมื่อใช้ยาอื่นๆอยู่ด้วยโดยเฉพาะกลุ่มยาที่จะกล่าวต่อไป เนื่องจากอาจต้องมีการเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยานั้นๆตัวอย่างเช่น

  • ยาลดความดันโลหิตในกลุ่มยับยั้งการปิดกั้นแคลเซียมแชนแนล (Calcium Channel Blockers) เช่น ยาแอมโลไดพีน (Amlodipine), ยาฟีโลไดพีน (Felodipine), ยาไนคาร์ไดพีน (Nicardipine), ยาไนเฟดไดพีน (Nifedipine)
  • ยาในกลุ่มต้านชัก/ยากันชักเช่น ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine), ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
  • ยาในกลุ่มลดไขมันในเลือดเช่น ยาอะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin), ยาโรซูวาสแททิน (Rosuvastatin)
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะเช่น ยา คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ/ยาบรรเทาอาการปวดเกาต์เช่น ยาโคลชิซีน (Colchicine)
  • ยาเสตียรอยด์เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone), ยาฟลูทิคาโซน (Fluticarsone), ยาบูเดโซไนด์ (Budesonide)
  • ยาแก้ปวดเช่น ยาเฟนทานิล (Fentanyl), ยาออกซีโคโดน (Oxycodone)
  • ยาในกลุ่มฆ่าเชื้อราเช่น ยาอิทราโคนาโซล (Iraconazole), ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมอยู่ด้วย
  • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine), ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) และยาทาโครไลมัน (Tacrolimus)
  • ยาในกลุ่มคลายเครียดเช่น ยามิดาโซแลม (Midazolam), ยาอัลพราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase) เพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชายเช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ยาทาดาลาฟิน (Tadalafil), ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil)
  • ยารักษาโรคจิตเภทเช่น ยาทราโซโดน (Trazodone), ยาควิไทอะพีน (Quetiapine), ยาอะริพริพาโซล (Aripriprazole)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น ยาไรวารอกซาแบน (Rivaroxaban), ยาเอพิซาแบน (Apixaban)
  • ยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่มไทรไซคลิก (TCAs) เช่น ยาอะมิทริปทีลีน (Amitripty line)
  • ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารทั้ง
    • ชนิดปิดกั้นตัวรับฮีสตามีน-2 (H/Histamine 2-Antagonists) เช่น ยารานิทิดีน (Ranitidine), ยาฟาโมทิดีน (Famotidine)
    • และกลุ่มปิดกั้นตัวรับโปรตอนปั๊ม (Proton Pump Inhibitors; PPI) เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole), ยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) เป็นต้น
  • ยารักษาโรคหืดเช่น ยาธีโอฟิลีน (Theophylline)
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิท (St. John’s wort)
  • กระเทียมสกัดชนิดเม็ดหรือแคปซูล
  • ข้าวหมักชนิดยีสต์แดง/เรดยีสต์ไรส์ (Red Yeast Rice): อาหารเสริมชนิดหนึ่ง

มีข้อควรระวังในการใช้ยาซาควินาเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาซาควินาเวียร์เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือกำลังรับประทานยาซาควินาเวียร์ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้กับผลไม้เกรปฟรุตส์ (Grapefruits)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยาในหัวข้อ ยาซาควินาเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม? หัวข้อย่อย ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อไปนี้ร่วมกับยาซาควินาเวียร์
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวัดระดับซีดีโฟร์ (CD 4, Cluster of differentiation 4) อย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นการตรวจวัดระดับเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การตรวจระดับซีดีโฟร์จะทำให้ทราบถึงระดับความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีระดับภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำกว่าผู้ไม่ติดเชื้อ การตรวจวัดค่าซีดีโฟร์ทำให้แพทย์ทราบประสิทธิภาพในการรักษาของยานี้ว่าทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯที่ดีขึ้นหรือไม่
  • ยาซาควินาเวียร์อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดลดลงรวมถึงยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน หรือยาฉีดคุมกำเนิด ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วยขณะใช้ยาซาควินาเวียร์เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดก้อนไขมันขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกายเช่น ตามลำตัว หลังส่วนบน คอ เต้านม และบริเวณท้อง แต่ไขมันที่บริเวณใบหน้า แขน และขาอาจน้อยลง
  • ยาซาควินาเวียร์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแม้ผู้ป่วยอาจไม่มีประวัติโรคเบาหวานก็ตาม แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันทีหากพบว่ามีอาการหิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย หิวมาก การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและไม่ได้รับการรักษา ระดับน้ำตาลที่สูงในเลือดสามารถทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดโคโตน (Ketoneacido sis) ซึ่งมีความเสี่ยงถึงชีวิต (ตาย) ซึ่งภาวะนี้เมื่อเกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก และหมดสติ
  • ในระหว่างการใช้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยเอชไอวีจะแข็งแรงขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายจะแข็งแรงขึ้น และเป็นไปได้ว่าอาจก่อให้เกิดการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆในร่างกายขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยบางคนอาจมีการเกิดเหมือนมีการติดเชื้อเช่น มีไข้ ตัวร้อน แต่หากอาการเกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น ให้แจ้งให้แพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาซาควินาเวียร์) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาซาควินาเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาซาควินาเวียร์ดังนี้เช่น

  • ควรเก็บรักษายาซาควินาเวียร์ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
  • ไม่ควรนำยาออกจากแผงยาก่อนการรับประทาน
  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง เลือกบริเวณที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาซาควินาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซาควินาเวียร์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าคือ อินไวเรส (Invirase) จัดจำหน่ายโดยบริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Saquinavir, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1896-1898.
  2. Brunton, L.L., Lazo, J.S. and Parker, K.L. Goodman and Gilmans´s The Pharmacological Basis of Therapeutics (11th edition). United States of America: McGraw-Hill. 2006.
  3. Drug Interaction http://www.drugs.com/interactions [2015,Oct17]
  4. WHO Model List of .Essential Medicines. October 2013.
  5. Centers for Disease Control and Prevention. MMWR. 60(21): 2011.
  6. ธนกร ศิริสมุทร. ยายับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส: หลากมุมมองทางคลินิก ใน โรคและยาใหม่. มิถุนายน 2549. www.thaihp.org [2015,Oct17]
  7. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2015,Oct17]