ซัลฟาเซตาไมด์ (Sulfacetamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- ซัลฟาเซตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟาเซตาไมด์อย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซัลฟาเซตาไมด์อย่างไร?
- ซัลฟาเซตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Sulfonamides
- สิว (Acne)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- การแพ้ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa Drug Allergy)
- เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)
บทนำ
ยาซัลฟาเซตาไมด์(Sulfacetamide หรือ Sulfacetamide sodium)เป็นยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) หรือ ซัลฟา(Sulfa drug) มีฤทธิ์ยับยั้งและต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทางคลินิกนำยานี้มาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบ ยาใช้เฉพาะที่ภายนอก เช่น
- โลชั่นขนาดความเข้มข้น 10% สำหรับทารักษาสิว และรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ยาขี้ผึ้งสำหรับเป็นยาป้ายตาที่มีขนาดความเข้มข้น 10%
- ยาน้ำที่ใช้เป็นยาหยอดตาที่มีขนาดความเข้มข้น 10%
การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า ยาซัลฟาเซตาไมด์ ถ้าใช้รับประทานจะสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี และเมื่อใช้เป็นยาใช้ภายนอกก็สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้จากเนื้อเยื่อต่างๆที่สัมผัสกับยานี้ ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจนได้สารประกอบที่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Inactive metabolites) และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
ผลข้างเคียงที่พบเห็นจากการใช้ยาซัลฟาเซตาไมด์ เช่น อาการระคายเคืองในบริเวณที่มีการสัมผัสหรือใช้ยานี้ อย่างเช่น รู้สึกแสบ-คัน รวมถึงอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เหนื่อยง่าย และปวดศีรษะ บางกรณีอาจพบเห็นอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหรืออุจจาระเป็นเลือดร่วมด้วย
สำหรับการดูแลเมื่อได้รับยาซัลฟาเซตาไมด์ในขนาดมากไป หรือมีการใช้ยานี้ผิดวิธี สามารถใช้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ดังนี้
ก. กรณีเผลอรับประทานยาซัลฟาเซตาไมด์ในปริมาณมาก: ห้ามกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน ต้องจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่หายใจได้สะดวกเพื่อป้องกันการสำลัก ผู้ช่วยเหลืออาจประคองผู้ป่วยไว้ด้านซ้ายของตนเอง หากผู้ป่วยอยู่ในสภาพนอนหลับ ห้ามป้อนน้ำ และให้รีบส่งตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ข. กรณีสูดดมยาซัลฟาเซตาไมด์ในปริมาณมาก: ผู้ป่วยที่ยานี้ผ่านเข้าร่างกายทางจมูก ให้นำผู้ป่วยออกมาอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน และทำให้ร่างกายอบอุ่น หากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ใช้การทำหัตถการซีพีอาร์(CPR, Cardiopulmonary resuscitation)ช่วยเหลือถ้าทำได้ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยา บาลทันที/ฉุกเฉิน
ค. กรณียาซัลฟาเซตาไมด์ปริมาณมากสัมผัสกับผิวหนัง: การสัมผัสยานี้ทางผิวหนังเป็นปริมาณมาก หากเป็นการเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า ให้รีบถอดแล้วไปชำระล้างร่างกายให้สะอาด กรณียานี้สัมผัสกับผม/ผิวหนังให้ล้างทำความสะอาดออกด้วยสบู่เด็ก ผิวหนังจากนั้นอาจใช้โลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นทาผิวหนัง หากพบว่า เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ง. กรณียาซัลฟาเซตาไมด์เข้าตาในปริมาณมาก: ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อาจต้องใช้เวลาล้างตานานอย่างน้อยประมาณ 15 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าล้างยานี้ออกหมด แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
*อนึ่ง ถึงแม้ยาซัลฟาเซตาไมด์จะเป็นยาใช้ภายนอกก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างในด้านของวัตถุประสงค์การรักษาที่แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องระวังการใช้ยานี้ผิดวิธี เช่น นำยาซัลฟาเซตาไมด์ชนิดป้ายตามาทารักษาสิว หรือนำโลชั่นทารักษาสิวมาใช้กับตา เป็นต้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดดังกล่าว ก่อนการใช้ยาชนิดนี้ จึงควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือ จากเภสัชกร เสมอ
ซัลฟาเซตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซัลฟาเซตาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตาในรูปแบบของ ขี้ผึ้งป้ายตา และ/หรือ ยาหยอดตา
- ลดการอักเสบของสิว หรือ ของโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ในรูปแบบของโลชั่นทาผิวหนัง
ซัลฟาเซตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซัลฟาเซตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดชนิดหนึ่งของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า กรดไดไฮโดรโฟลิก (Dihydrofolic acid)ซึ่งเป็นสารประกอบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย ด้วยกลไกนี้ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด
ซัลฟาเซตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซัลฟาเซตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความเข้มข้น 10%
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 10%
- โลชั่นทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 10-30%
อนึ่ง อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
ซัลฟาเซตาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างการใช้ยา/การบริหารยาซัลฟาเซตาไมด์เฉพาะ กรณีติดเชื้อที่ตา (ส่วนในการใช้รักษาโรคทางผิวหนัง จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เป็นกรณีๆไป) เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้ยาซัลฟาเซตาไมด์ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา โดยบีบยาให้เป็นทางยาวประมาณ ครึ่งนิ้ว ป้ายในตาข้างที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง และก่อนนอน ระยะเวลาของการรักษาอยู่ในช่วง 7 – 10 วัน หรือตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: ในทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยากับเด็ก จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และ*ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลฟาเซตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคตับ โรคไต โรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟาเซตาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมป้ายยา หรือทายา หรือหยอดตาด้วยยาซัลฟาเซตาไมด์ สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า คือ ให้ใช้ยาในขนาดปกติเหมือนเดิม
ซัลฟาเซตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซัลฟาเซตาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อตา: เช่น แสบ/คันตา เกิดแผลที่กระจกตา/กระจกตาเป็นแผล เกิดการติดเชื้อราที่กระจกตา
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน และอาจพบภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะ Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ) และภาวะเลือดจาง
- ผลต่อตับ: เช่น อาจเกิดภาวะตับแข็งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
- อื่นๆ: อาจเกิดภาวะ/การแพ้ยาซัลฟา
มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟาเซตาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาเซตาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มยาซัลฟา(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การแพ้ยาซัลฟา”)
- ห้ามรับประทานยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ยามีตะกอนหรือฝุ่นผงกรณีเป็นยาน้ำ หรือยาเหลวเป็นน้ำกรณีเป็นยาขี้ผึ้ง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด โรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี โรคตับ โรคไต และผู้ป่วยโรคเลือด
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันอย่างถูกต้องตามแพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลฟาเซตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซัลฟาเซตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซัลฟาเซตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาซัลฟาเซตาไมด์ชนิดป้ายตา ร่วมกับยาหยอดตา Silver nitrate ophthalmic solution ด้วยจะเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกัน ส่งผลให้ตัวยาซัลฟาเซตาไมด์จับตัวกับสาร Silver nitrate ในยา Silver nitrate ophthalmic solution จนยาซัลฟาเซตาไมด์เกิดการตกตะกอน ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาซัลฟาเซตาไมด์ด้อยลงไป และตะกอนในยาซัลฟาเซตาไมด์อาจก่อ อันตรายต่อตาได้ เช่น กระจกตาเป็นแผล
ควรเก็บรักษาซัลฟาเซตาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาซัลฟาเซตาไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 8-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
ซัลฟาเซตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซัลฟาเซตาไมด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bleph-10 (เบลฟ-10) | Allergan |
KLARON (คลารอน) | Dermik Laboratories |
Sulfacetamide Sodium Ophthalmic Ointment USP, 10% (ซัลฟาเซตาไมด์ โซเดียม ออฟทัลมิก ออยเมนท์ ยูเอสพี,10%) | Paddock Laboratories |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Sulfac 10%, Ocu-Sul 10, Ocu-Sul 15, Ocu-Sul 30, Sodium Sulamyd, Sulf-10, Sulfacet sodium, Albucid, Andremide, Locula 10%, Locula 20%, Locula 30%, Optacid 10%, Optacid 20%, Syncula, Setride
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfacetamide [2017,Jan21]
- https://www.drugs.com/pro/sulfacetamide.html [2017,Jan21]
- http://www.mims.com/singapore/drug/info/sulfacetamide?mtype=generic [2017,Jan21]
- http://www.livestrong.com/article/482184-folic-acid-bacteria/ [2017,Jan21]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/019931s019lbl.pdf [2017,Jan21]
- http://www.allergan.com/assets/pdf/bleph_pi [2017,Jan21]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/20140820_558280c6-893e-4645-9018-40c69be936d3.pdf [2017,Jan21]