ซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamide/Sulphanilamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซัลฟานิลาไมด์(Sulfanilamide หรือ Sulphanilamide) เป็นอินทรีย์สาร(Organic compound)ที่มีสารเคมีหมู่ NH2 เป็นองค์ประกอบ และอยู่ในอนุพันธ์ของยาซัลโฟนาไมด์(Sulfonamide) มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราจำพวกยีสต์ ทางคลินิกใช้ยาซัลฟานิลาไมด์เพื่อรักษาการอักเสบของช่องคลอดที่มีสาเหตุจากเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)/เชื้อราในช่องคลอด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาครีมที่ใช้ทาในช่องคลอด และจัดเป็นยาอันตรายชนิดหนึ่ง

ก่อนการใช้ยาซัลฟานิลาไมด์ แพทย์จะทำการซักถาม หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการต่างๆดังต่อไปนี้ แพทย์อาจระงับการสั่งจ่ายนี้ เช่น

  • เคยมีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ผู้ป่วยมีอาการไข้ หรือปวดท้องรุนแรง
  • มีตกขาว/ฤดูขาวที่มีกลิ่นเหม็น
  • เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • เป็นสตรีมีครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • มีการใช้ยาอื่นในบริเวณช่องคลอด

ทั่วไป การใช้ยาซัลฟานิลาไมด์ ต้องกระทำต่อเนื่องติดต่อกัน 30 วัน หรือจนครบเทอมการรักษาตามแพทย์สั่ง การใช้ยานี้ไปแล้วไม่กี่วัน แล้วอาการดีขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่า เชื้อราจะไม่กลับมาเป็นใหม่ ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการผื่นคันตามร่างกาย อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-ลิ้น-คอเกิดอาการบวม นั่นเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่า “แพ้ยาซัลฟานิลาไมด์” ซึ่งจะต้องหยุดการใช้ยานี้ และรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ซัลฟานิลาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซัลฟานิลาไมด์

ยาซัลฟานิลาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อรา จำพวกแคนดิดาในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis)/เชื้อราในช่องคลอด

ซัลฟานิลาไมด์กลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัลฟานิลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวเชื้อราที่เรียกกันว่า Dihydropteroate synthetase ส่งผลให้เชื้อราไม่สามารถสังเคราะห์สารประกอบที่จำเป็นในการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ อย่างเช่น Folic acid จากกลไกนี้ จึงทำให้เชื้อรา(Candida albicans) ในช่องคลอดตายลง จึงเกิดผลของการรักษาตามสรรพคุณ

ซัลฟานิลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟานิลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาครีม ที่บรรจุตัวยา Sulfanilamide 15% (15 กรัม/ครีมเบส* 100 กรัม)

อนึ่ง *ครีมเบส(Cream base คือ ครีมที่ยังไม่มีส่วนผสมของสารอื่นๆ)

ซัลฟานิลาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาซัลฟานิลาไมด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใส่ยานี้เข้าอุปกรณ์ส่งยาหรือApplicator (คิดเป็นครีมเบสปริมาณ 6 กรัม) จากนั้นวางตำแหน่งอุปกรณ์ส่งยาตรงช่องคลอดโดยทำตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาและ/หรือตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ และปล่อยตัวยาเข้าในช่องคลอด ควรใช้ยาวันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 30 วันต่อเนื่อง หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • ควรใช้ยานี้จนกระทั่งครบเทอมการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยาอื่นใดใส่ช่องคลอดร่วมกับยาชนิดนี้นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลฟานิลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟานิลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องได้รับยาซัลฟานิลาไมด์ต่อเนื่องตามแพทย์สั่งจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมใช้ยานี้สามารถใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยานี้ในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยานี้ที่ขนาดปกติ

ซัลฟานิลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลฟานิลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวมีสีหลือง
  • ผลต่อตา: เช่น ตาเหลือง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ สังเกตจากปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีด
  • ผลต่อช่องคลอด: เช่น รู้สึกระคายเคืองภายในช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟานิลาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟานิลาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทาน หรือใช้กับตา
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ถึงแม้อาการจะดีขึ้น ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้จนครบระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด กรณีเกิดผลข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน และอยากหยุดการใช้ยานี้ ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะใช้ยานี้ หรือต้องใช้ถุงยางอนามัยชายป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่คู่นอน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี/G6PD
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม เกิดผิวหนังลอก เป็นผื่นแดง ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซัลฟานิลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซัลฟานิลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟานิลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลฟานิลาไมด์ร่วมกับ ยาAtorvastatin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกันอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาซัลฟานิลาไมด์ร่วมกับ วัคซีนBCG เพราะอาจทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของBCG ไร้ประสิทธิผล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลฟานิลาไมด์ร่วมกับ ยาMetoprolol เพราะจะทำให้ระดับ ยาMetoprololในกระแสเลือดสูงขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาMetoprolol มากขึ้น

ควรเก็บรักษาซัลฟานิลาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาซัลฟานิลาไมด์ ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยา ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ย

ซัลฟานิลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟานิลาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
AVC (เอวีซี) Meda Pharmaceuticals Ltd

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00259 [2018,April28]
  2. https://www.drugs.com/mtm/sulfanilamide-vaginal.html [2018,April28]
  3. https://www.drugs.com/sfx/sulfanilamide-topical-side-effects.html [2018,April28]
  4. https://www.drugs.com/dosage/sulfanilamide-topical.html [2018,April28]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfanilamide [2018,April28]
  6. http://www.mims.com/philippines/drug/info/sulfanilamide?mtype=generic [2018,April28]