ซัลพิไรด์ (Sulpiride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซัลพิไรด์(Sulpiride หรือ Levosulpiride) เป็นยาบำบัดอาการทางจิตประสาทหรือจิตเภท(Shcizophrenia)ซึ่งผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด พฤติกรรม รวมถึงการรับรู้ที่ไม่เป็นปกติ ทางคลินิก ยังนำยาซัลพิไรด์มารักษาอาการซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวลอีกด้วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาซัลพิไรด์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 25–40 % มีปริมาณยาในกระแสเลือดน้อยกว่า 40% ที่เข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน และตัวยานี้ยังซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาได้ ตัวยาจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแต่อย่างใด และสามารถดำรงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 8–9 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ควบคุมสภาพทางจิตได้ตลอดทั้งวันจึงต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และมีความแตกต่างของขนาดรับประทานตามความรุนแรงของอาการป่วยแต่ละบุคคล

มีข้อจำกัดการใช้ยาซัลพิไรด์ที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ อาทิ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma) โรคโพรพีเรีย(Porphyria, โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยจากมีความผิดปกติของสารที่เกี่ยวข้องกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง) ผู้ที่เป็นเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ด้วยยาซัลพิไรด์สามารถทำให้อาการของผู้ป่วยย่ำแย่ลง
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสัน อย่างเช่นยา Levodopa เพราะจะเกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาซัลพิไรด์อาจถูกส่งผ่านถึงตัวทารกจนเกิดอันตรายต่อทารกได้ได้
  • ต้องเพิ่มความระมัดระวัง หากต้องการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ(เช่น หัวใจเต้นช้า) โรคเส้นโลหิตในสมองตีบ/โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ผู้ที่ร่างกายขาดสมดุลของเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดเกิดได้ง่าย เป็นต้น
  • มียาหลายประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาซัลพิไรด์ ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกันตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาขับปัสสาวะ(อย่างเช่นยา Furosemide), ยารักษาโรคหัวใจ (อย่างเช่นยา Amiodarone , Disopyramide, หรือ Quinidine), ยากลุ่ม Beta-blockers , Calcium channel blockers , Digitalis , Promazine, Barbiturates , Benzodiazepine, เป็นต้น
  • ในสูตรตำรับชนิดยาเม็ดของยาซัลพิไรด์มักจะประกอบด้วยน้ำตาลแลคโตส จึงไม่เหมาะที่จะใช้สูตรตำรับดังกล่าวกับผู้ที่มีประวัติแพ้แลคโตส
  • ส่วนหนึ่งของตัวยาซัลพิไรด์จะถูกขับออกทางปัสสาวะ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต โดยแพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลง
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยานี้อย่างกระทันหัน ถึงแม้จะมีอาการดีขึ้นเหมือนปกติแล้วก็ตาม ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมา

การใช้ยาซัลพิไรด์ จะต้องปฏิบัติและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด การหลงลืมรับประทานจะส่งผลให้ขาดประสิทธิผลในการรักษา หรือ

*การเผลอรับประทานยาซัลพิไรด์ เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการ กระสับกระส่าย ความดันโลหิตต่ำ ง่วงนอน รู้สึกสับสนไปจนถึงขั้นโคม่า หากพบเห็นอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างใช้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

เรามักพบเห็นการใช้ยาซัลพิไรด์ในแถบ ทวีปยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ยานี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับในบางประเทศอย่าง อเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ปัจจุบันมียาทางเลือกหลายรายการที่ใช้รักษาโรคจิตเภท อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยการใช้ยาซัลพิไรด์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

ซัลพิไรด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซัลพิไรด์

ซัลพิไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการทางจิตเภท (Schizophrenia)

ซัลพิไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัลพิไรด์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ชนิด Dopamine (D)2, D3 และ D4 receptor ส่งผลให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง จนทำให้ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม ของผู้ป่วยกลับมาใกล้เคียงปกติ

ซัลพิไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ซัลพิไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยา Sulpiride 200, และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด

ซัลพิไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซัลพิไรด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยาครั้งละ 200–400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ผู้อายุต่ำกว่า 14 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในวัยนี้ การใช้ยานี้ในวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลงมา
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร์หากมีอาการวิงเวียนขณะที่ใช้ยานี้ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลพิไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคพาร์กินสันรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลพิไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาซัลพิไรด์ สามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยาซัลพิไรด์ ต้องอาศัยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การหยุดรับประทานยานี้ทันที อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมา

ซัลพิไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลพิไรด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ซัลพิไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลพิไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคพาร์กินสัน โรคลมชัก โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ เพื่อแพทย์ตรวจสภาพอาการของผู้ป่วย และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยานี้ตามการตอบสนองของผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลพิไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซัลพิไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ซัลพิไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลพิไรด์ร่วมกับยา Amitriptyline ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงจากการใช้ยาซัลพิไรด์ตามมา
  • ห้ามใช้ยาซัลพิไรด์ร่วมกับยา Levodopa ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาซัลพิไรด์ด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาซัลพิไรด์ร่วมกับยา Amiodarone ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลพิไรด์ร่วมกับยาลดความดันโลหิต อย่างเช่นยา ACE inhibitors ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา

ควรเก็บรักษาซัลพิไรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาซัลพิไรด์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ซัลพิไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลพิไรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dolmatil (ดอลมาทิล)Delpharm Dijon

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Dogmatil, Eglonyl, Espiride, Prometar, Sulpor

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulpiride[2017,May13]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sulpiride/?type=brief&mtype=generic[2017,May13]
  3. file:///C:/Users/apai/Downloads/921596.pdf[2017,May13]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.10939.latest.pdf[2017,May13]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00391[2017,May13]
  6. https://www.evidence.nhs.uk/document?ci=https%3A%2F%2Fwww.evidence.nhs.uk%2Fformulary%2Fbnf%2Fcurrent%2Fa1-interactions%2Flist-of-drug-interactions%2Fantipsychotics%2Fsulpiride&returnUrl=Search%3Fq%3Dsulpiride%2Blong%2Bterm%2Beffects&q=sulpiride+long+term+effects [2017,May13]