ซัลซิตาบีน (Zalcitabine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซัลซิตาบีน(Zalcitabine) หรือชื่ออื่นคือ Dideoxycytibine เป็นยาที่ใช้รักษาโรค เอชไอวี/ เอดส์ (HIV/AIDS) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง โดยแพทย์มักจะใช้ยาซัลซิตาบีนร่วมกับยาอื่นในการบำบัดผู้ป่วยเอชไอวี

ยาซัลซิตาบีน จัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Nucleoside reverse-transcriptase inhibitor (ยาเอ็นอาร์ทีไอ) กล่าวคือ ตัวยาจะคอยยับยั้งการจำลองหน่วยย่อยๆของสารพันธุกรรมที่ไวรัสเอชไอวีใช้ในการสร้างไวรัสรุ่นใหม่

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาซัลซิตาบีน เป็นยาแบบรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาวันละ 3 ครั้งอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง ทางคลินิกจึงมักจะใช้ยานี้เป็นตัวเลือกท้ายๆในการรักษาเอชไอวี

การดูดซึมของยาซัลซิตาบีนจากระบบทางเดินอาหารอยู่ที่ 80% โดยประมาณ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในขณะที่ท้องว่าง ด้วยอาหารจะรบกวนการดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปทางปัสสาวะ

ยาซัลซิตาบีน สามารถซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสู่สมอง และส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท โดยทำให้มีอาการรู้สึกชาตามปลายมือ-เท้า หรือรู้สึกเจ็บเหมือนโดนของแหลมคมทิ่มตำ

ยาซัลซิตาบีน ยังอาจทำให้เกิดการบวมของตับอ่อนจนก่อให้เกิดตับอ่อนอักเสบ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ทันทีกรณีที่มีอาการ อาเจียน ปวดท้อง หรือในบางกรณีอาจเกิดภาวะกรดแลคติกในร่างกายมีระดับสูงผิดปกติ(ภาวะเลือดเป็นกรด) หรือไม่ก็เกิดภาวะตับวาย ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องหยุดการใช้ยาซัลซิตาบีนทันที และต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว

ยาซัลซิตาบีน ยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเราอาจจะพบเห็นยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Hivid

ซัลซิตาบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซัลซิตาบีน

ยาซัลซิตาบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาการติดเชื้อเอชไอวี(HIV) โดยต้องใช้ร่วมกับยารักษาเอชไอวีชนิดอื่น

ซัลซิตาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัลซิตาบีนเป็นยาในกลุ่ม Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor (ย่อว่า เอนอาร์ทีไอ) โดยตัวยาจะเข้ารวมตัวดีเอ็นเอของไวรัสเอชไอวี(Viral DNA) และเกิดการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ รีเวอร์ส ทรานสคริบเตส (Reverse transcriptase) ของไวรัสเอชไอวี ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถจำลองหรือสร้างไวรัสรุ่นใหม่ออกมาได้ และหยุดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี ด้วยกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ซัลซิตาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาซัลซิตาบีน:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Zalcitabine ขนาด 0.75 และ 0.375 มิลลิกรัม/เม็ด

ซัลซิตาบีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซัลซิตาบีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือทุก 8 ชั่วโมง ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย ผลข้างเคียง ประสิทธิผล และขนาดยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ส่วนในเด็กอายุสูงกว่า13ปีข้อมูลการใช้ยานี้ยังมีจำกัดมาก

อนึ่ง: การใช้ยานี้ให้สัมฤทธิ์ผลแพทย์จะสั่งจ่ายยารักษาเอชไอวี/ ยาต้านเอชไอวีชนิดอื่นร่วมด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลซิตาบีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลซิตาบีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาซัลซิตาบีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ซัลซิตาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลซิตาบีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:เช่น เกิดแผลที่หลอดอาหาร ท้องผูกหรือไม่ก็ ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ชาปลายมือหรือเท้า, รู้สึกเจ็บเหมือนโดนของแหลมทิ่มตำ, มีไข้
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอารมณ์แปรปรวน
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บคอ_คออักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กรดยูริคในเลือดสูง/เลือดเป็นกรด อ่อนเพลีย
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว/ หัวใจวาย เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผมร่วง เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผลต่อตับและตับอ่อน: เช่น ตับวาย ตับโต ตับอ่อนอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ซัลซิตาบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลซิตาบีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบปลายประสาท
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาซัลซิตาบีนร่วมกับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย ปวดท้องมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ก่อนหยุดรับประทานยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซัลซิตาบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซัลซิตาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลซิตาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาซัลซิตาบีน ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีตัวยา Aluminium หรือ Magnesium เป็นองค์ประกอบ ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาซัลซิตาบีนเข้าสู่ร่างกายลดลง
  • ห้ามรับประทานยาซัลซิตาบีน ร่วมกับยา Cimetidine, Probenecid, Amphotericin B, Aminoglycosides, และ Foscarnet เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากยาซัลซิตาบีนเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาซัลซิตาบีน ร่วมกับ ยาDoxorubicin ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของยา Doxorubicin ลดต่ำลง

ควรเก็บรักษาซัลซิตาบีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาซัลซิตาบีน เช่น

  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ซัลซิตาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลซิตาบีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Hivid (ฮิวิด)Hoffmann La Roche Inc

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/zalcitabine/?type=brief&mtype=generic[2019, Nov23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Zalcitabine [2019, Nov23]
  3. http://www.antimicrobe.org/drugpopup/Zalcitabine.pdf [2019, Nov23]
  4. https://www.drugs.com/cdi/zalcitabine.html [2019, Nov23]
  5. https://www.rxlist.com/hivid-drug.htm#precautions [2019, Nov23]