ซักซินิลโคลีน (Succinylcholine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซักซินิลโคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ซักซินิลโคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซักซินิลโคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซักซินิลโคลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ซักซินิลโคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซักซินิลโคลีนอย่างไร?
- ซักซินิลโคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซักซินิลโคลีนอย่างไร?
- ซักซินิลโคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery)
- อะโทรปีน (Atropine)
- หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)
- หัวใจเต้นช้า (Bradycardia)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาซักซินิลโคลีน (Succinylcholine) คือ สารเคมี/ยาที่อยู่ในกลุ่มนิโคตินิค อะเซทิลโคลีน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Nicotinic acetylcholine receptor agonist, สารต้านตัวรับที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ) แพทย์นำมาใช้เป็นยากระตุ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเกิดภาวะคล้ายเป็นอัมพาตระยะสั้นๆ มักใช้ในกรณีที่ต้องสอดท่อช่วยหายใจเข้าในท่อลม (Tracheal intubation)
อนึ่ง ชื่ออื่นของยานี้คือ ‘ซาเมโทเนียม คลอไรด์ (Suxamethonium chloride)’ หรือเรียกสั้นๆว่า ‘Suxamethonium’
ทั้งนี้ รูปแบบการใช้ยาซักซินิลโคลีนนี้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น ไม่มีชนิดรับประทาน การใช้ยานี้มีเฉพาะในสถานพยาบาลโดยเฉพาะในห้องผ่าตัด โดยฤทธิ์ของยาจะทำให้การปฏิบัติการหรือหัตถการทางการแพทย์ทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะทำให้ผู้ป่วยสบายตัวขึ้นในระหว่างทำหัตถการในห้องผ่าตัด
เมื่อยาซักซินิลโคลีนเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์ที่ชื่อว่า Pseudocholinesterase และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ องค์การอนามัยโลกจัดให้ซักซินิลโคลีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ชื่อการค้าที่อาจพบเห็นได้คือ Quelicin และ Anectine
ซักซินิลโคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาซักซินิลโคลีนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวเมื่อต้องทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น
- การใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal intubation)
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Gastroendoscopy)
- หัตถการในการรักษาโรคทางกระดูกและข้อ (Orthopaedic manipulations)
- การรักษาอาการป่วยทางจิตเวชโดยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
ซักซินิลโคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซักซินิลโคลีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ แต่ไม่ออกฤทธิ์ต่อ กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อมดลูก หรือกล้ามเนื้อเรียบในส่วนต่างๆของร่างกาย อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสติสัมปชัญญะของคนไข้หรือแม้แต่ความรู้สึกเจ็บปวด จึงทำให้หัตถการทางการแพทย์เป็นไปอย่างราบรื่น
ซักซินิลโคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซักซินิลโคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาดบรรจุ 20 และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาดบรรจุ 500 มิลลิกรัม/ขวด
ซักซินิลโคลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/การใช้ยาซักซินิลโคลีน ควรให้ยาหลังจากผู้ป่วยได้รับยาชา/ยาสลบและใส่เครื่องช่วยหายใจเรียบร้อยแล้ว
- ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำ เป็นให้ฉีดซ้ำในขนาด 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การฉีดหรือให้ยาซ้ำอาจทำให้หัวใจเต้นช้า สามารถป้องกันโดยให้ยา Atropine 0.5 - 1 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นให้ฉีดซ้ำในขนาด 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
*****หมายเหตุ:
- การเตรียมเป็นสารละลายสำหรับยาฉีด ให้ผสมซักซินิลโคลีนด้วย 5% Dextrose หรือ 5% Dextrose ร่วมกับ 0.9% Sodium chloride หรือ 0.9% Sodium chloride โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.5 - 10 มิลลิกรัม/นาที
- เพื่อคงประสิทธิภาพและฤทธิ์ของยาให้คงอยู่ได้ตามเวลาที่ต้องการให้หยดยาเข้าหลอด เลือดดำในอัตรา 1 - 2 มิลลิกรัม/นาทีทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซักซินิลโคลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาซักซินิลโคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ซักซินิลโคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซักซินิลโคลีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- จากยานี้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวจึงอาจทำให้เกิดภาวะกดการหายใจ (หายใจเบาแผ่วจนถึงหยุดหายใจ) ขึ้นได้
- อาจเกิดภาวะแพ้ยา
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็หัวใจเต้นช้า
- ยานี้ทำให้ความดันตาสูงขึ้น
- ปวดกล้ามเนื้อหลังการใช้ยา
- ไตวาย
- น้ำลายมาก
- อาจมีผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ซักซินิลโคลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซักซินิลโคลีน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการเป็นไข้สูงรุนแรงที่เป็นผลจากผลข้างเคียงของยา ( Malignant hyperthermia)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับแผลไหม้อย่างสาหัสหรือแผลบาดเจ็บที่มีพื้นที่กว้าง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ไตทำงานผิดปกติหรือผู้ป่วยโรคต้อหิน (Angle closure glaucoma)
- การใช้ยานี้อาจก่อให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำอยู่แล้ว
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรระวังการเกิดกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาตหรือ อ่อนแรง
- การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์โดยประเมินจากอายุ น้ำหนักตัว โรคประจำตัว โรคร่วมต่างๆ รวมถึงความรุนแรงของโรค
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซักซินิลโคลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซักซินิลโคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซักซินิลโคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาซักซินิลโคลีน ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัวสามารถทำให้ระดับความเข้มข้นของยาซักซินิลโคลีนอยู่ในร่างกายได้มากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมา การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จึงจะพิจารณาปรับขนาดการให้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป ยาดังกล่าว เช่นยา Amikacin, Gentamycin, Kanamycin, Neomycin
- การใช้ยาซักซินิลโคลีน ร่วมกับ ยา Polymyxin B อาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบการหายใจของผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาซักซินิลโคลีน ร่วมกับ ยา Amphotericin B อาจทำให้ระดับเกลือแมกนีเซียมและเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสม และแพทย์จะเฝ้าระวังระดับเกลือแร่ทั้ง 2 ชนิดให้อยู่ในระดับปกติอยู่ตลอดเวลา
ควรเก็บรักษาซักซินิลโคลีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษาซักซินิลโคลีน:
- หากเป็นยาฉีดที่เป็นสารละลาย ให้เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- หากเป็นยาฉีดชนิดผง ให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 37 องศาเซลเซียส
- อนึ่ง: ยานี้ทุกรูปแบบ
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซักซินิลโคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซักซินิลโคลีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anectine (อะเน็คทีน) | Glaxo Smith Kline |
Succinyl (ซักซินิล) | Sidefarma |
Quelicin (ควอลิซิน) | Hospira |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/suxamethonium?mtype=generic [2021,March20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/succinylcholine.html [2021,March20]
- https://www.drugs.com/cdi/succinylcholine.html [2021,March20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Suxamethonium_chloride [2021,March20]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.928.pdf [2021,March20]