ซอลมิทริปแทน (Zolmitriptan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาซอลมิทริปแทน (Zolmitriptan) คือ ยารักษาบรรเทาอาการ ไมเกรน และ ปวดศีรษะคลัสเตอร์ จัดเป็นยาประเภท ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonist) มีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Serotonin receptor (5-HT receptor: 5-hydroxytryptamine receptors) ซึ่งพบได้ในสมอง หลอดเลือด, กล้ามเนื้อเรียบ เป็นต้น

ทางคลินิก นำยาซอลมิทริปแทนมาใช้รักษาและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนรวมถึงปวดศีรษะคลัสเตอร์ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน และไม่ควรใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากสาเหตุอื่น ชื่อการค้าที่รู้จักกันดีในต่างประเทศของยานี้คือ “Zomig” โดยบริษัทยาที่มีชื่อว่า Astra Zeneca เป็นผู้ทำการตลาดและจัดจำหน่าย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาพ่นจมูก การดูดซึมของยาจากระบบทางเดินอาหารมีประมาณ 40% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 25% โดยประมาณ ตัวยายังถูกลำเลียงไปยังที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี และจะได้สารออกฤทธิ์ (Active metabolite) ตัวใหม่ออกมา ปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งจากปริมาณยาที่รับประทานเข้าไปโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยมักจะได้รับคำถามจากแพทย์ว่า มีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่, มีความดันโลหิตสูง และใช้ยาอะไรอยู่บ้าง, หากเป็นสตรีจะได้รับคำถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่หรืออยู่ในช่วงเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่, เคยมีภาวะเป็นลมชัก หรือป่วยด้วยโรคไตอยู่หรือเปล่า, ฯลฯ เพื่อการประเมินโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยานี้

ปัจจุบัน เราอาจพบสูตรตำรับยาซอลมิทริปแทนเป็นยานำเข้าและมีใช้ตามสถานพยาบาลใหญ่ๆ การใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ซอลมิทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ซอลมิทริปแทน

ยาซอลมิทริปแทนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการ
    • ปวดศีรษะไมเกรน
    • ปวดศีรษะคลัสเตอร์

ซอลมิทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซอลมิทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในร่างกายที่มีชื่อว่า 5 HT receptor (Serotonin receptor) ที่เป็นชนิดย่อยๆที่เรียกว่า 5-HT1B และ 5-HT1D receptor ซึ่งอยู่ในบริเวณหลอดเลือดของสมอง ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดจนก่อให้เกิดฤทธิ์ลดการปวดศีรษะไมเกรนและปวดศีรษะคลัสเตอร์ตามสรรพคุณ

ซอลมิทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซอลมิทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาพ่นจมูก ขนาดความแรง 2.5 และ 5 มิลลิกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง

ซอลมิทริปแทนมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาซอลมิทริปแทนในรูปแบบการพ่นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยที่จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดยาที่ใช้รับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัมและทุก 2 ชั่วโมงสามารถรับประทานยาได้อีก 1 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีที่รวมถึงเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงประโยชน์และโทษของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซอลมิทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาซอลมิทริปแทน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ซอลมิทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซอลมิทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ต่างๆดังนี้เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • วิงเวียน
  • ใบหน้าแดง
  • อ่อนแรง
  • ง่วงนอน
  • อ่อนเพลีย
  • ชัก
  • ปากคอแห้ง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • รู้สึกร้อนมากกว่าปกติ
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ปวดตามร่างกาย
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว

*อนึ่ง: หากมีอาการแพ้ยานี้ จะทำให้เกิดผื่นคันตามร่างกาย, ใบหน้า-ปาก-ลิ้น-คอบวม หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ซอลมิทริปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ซอลมิทริปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการ ปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะคลัสเตอร์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กหรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซอลมิทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซอลมิทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซอลมิทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาซอลมิทริปแทน ร่วมกับยา Ergotamine และ Dihydroergotamine เพราะจะก่อให้ เกิดภาวะหลอดเลือดเกร็งตัวทำให้การไหลเวียนของเลือดที่จะไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดน้อยลงรวมถึงอาจเกิดความดันโลหิตสูงตามมาได้
  • การใช้ยาซอลมิทริปแทน ร่วมกับ ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาซอลมิทริปแทน ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะเพิ่มผล ข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ และขาดสติ
  • การใช้ยาซอลมิทริปแทน ร่วมกับยา Cimetidine อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาซอลมิทริปแทนเพิ่มมากขึ้นโดยอาจพบอาการวิงเวียน ง่วงนอน เจ็บหน้าอก อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาซอลมิทริปแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาซอลมิทริปแทน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsisus)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซอลมิทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซอลมิทริปแทน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
PMS-Zolmitriptan (พีเอ็มเอส-ซอลมิทริปแทน) Pharmascience
Zomig (โซมิก) AstraZeneca
ZOLMIST (ซอลมิสท์) Cipla

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Triptan [2021,Oct9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Zolmitriptan [2021,Oct9]
  3. https://www.medicinenet.com/zolmitriptan/article.htm [2021,Oct9]
  4. https://www.drugs.com/mtm/zolmitriptan.html [2021,Oct9]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/zolmitriptan?mtype=generic [2021,Oct9]
  6. https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Zomig/?type=brief [2021,Oct9]
  7. https://www.zomig.com/what-is-zomig-nasal-spray/ [2021,Oct9]