ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 4)

ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมปอด ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ

  • ปฏิกิริยาซึ่งเป็นอันตรายจากการใช้ยา (Adverse drug reaction) – ตั้งแต่ยาผิดกฎหมายอย่าง เฮโรอีน และ โคเคน จนถึงยาแอสไพรินและยาคีโม (Chemotherapy drugs)
  • ภาวะการหายใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome : ARDS) – เกิดขึ้นเมื่อปอดเต็มไปด้วยของเหลวและเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง การติดเชื้อในเลือด (Sepsis) ปอดบวม (Pneumonia) และการช็อคหมดสติ
  • การอยู่ในพื้นที่สูง (High Altitude) – นักปีนเขาและคนที่อาศัยหรือเดินทางไปยังที่สูงมีโอกาสเสี่ยงในการมีภาวะน้ำท่วมปอดจากการอยู่ในพื้นที่สูง (High Altitude Pulmonary Edema : HAPE) ซึ่งมักเกิดในที่ที่สูงกว่า 8,000 ฟุต (ประมาณ 2,400 เมตร) แม้ว่าคนๆ นั้น เช่น นักปีนเขา นักเล่นสกี จะเคยอยู่ในที่สูงมาแล้วก็ตามก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน
  • คนใกล้จมน้ำ – น้ำที่เข้าปอดทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด

หากภาวะน้ำท่วมปอดยังคงมีต่อไป อาจก่อให้เกิดแรงดันในหลอดเลือดที่ไปสู่ปอด (Pulmonary artery) และในที่สุดจะทำให้หัวใจห้องล่างขวาวาย หัวใจห้องล่างขวามีผนังกล้ามเนื้อหัวใจที่บางกว่าทางด้านซ้าย เพราะอยู่ในตำแหน่งที่มีความดันจากการสูบฉีดเลือดเข้าสู่ปอดน้อยกว่า ความดันในหัวใจห้องบนขวาที่เพิ่มขึ้น และขยายต่อไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจเป็นสาเหตุให้

  • ขาบวม
  • ช่องท้องบวม หรือที่เรียกว่า ท้องมาน (Ascites)
  • เกิดน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
  • ตับบวม

ทั้งนี้หากไม่ได้ทำการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือบางกรณีแม้ได้รับการรักษาก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน

เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอดต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที การตรวจอาจเริ่มต้นตามอาการด้วยการตรวจร่างกายและการเอ็กซเรย์ทรวงอก อาจมีการเจาะเลือดที่ข้อมือเพื่อตรวจดูปริมาณของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ (Arterial blood gas concentrations) และอาจมีการตรวจระดับของสารที่เรียกว่า B-type natriuretic peptide (BNP) โดยการเพิ่มขึ้นของสารนี้อาจสื่อให้เห็นว่ามีภาวะน้ำท่วมปอดที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือดชนิดอื่นด้วยซึ่งรวมถึง ตรวจการทำงานของไต การนับจำนวนเม็ดเลือด (Blood count )

การทดสอบเพื่อวิเคราะห์ว่ามีภาวะน้ำท่วมปอดหรือดูว่าทำไมจึงมีของเหลวในปอดอาจรวมถึง :

  • การเอ็กซเรย์ทรวงอก
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography : ECG)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography)
  • การตรวจผ่านกล้องตรวจในหลอดอาหาร (Transesophygeal echocardiography : TEE)
  • การวัดด้วยเครื่อง Pulmonary artery catheterization
  • การสวนหัวใจ (Cardiac catheterization)

แหล่งข้อมูล

  1. Causes. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=causes [2013, February 17].
  2. Complications. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=complications [2013, February 17].
  3. Tests and diagnosis. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=tests-and-diagnosis [2013, February 17].