ชีวิตหลังการติดเชื้อในกระแสเลือด (ตอนที่ 4)

ชีวิตหลังการติดเชื้อในกระแสเลือด-4

      

สำหรับการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสและภาวะช็อคจากการติดเชื้อ ทำได้โดย

  • เบื้องต้นให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotics) ทางหลอดเลือด และเมื่อทราบผลตรวจเลือดถึงชนิดของเชื้อที่เป็นต้นเหตุแล้ว จึงให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเชื้อชนิดนั้น ๆ
  • ให้ยากระตุ้นความดันโลหิต (Vasopressors)
  • ให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ
  • ให้อินซูลิน เพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่
  • ให้ยาลดปวด
  • ให้ยาที่ช่วยตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน
  • ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ
  • ฟอกไตกรณีที่มีการติดเชื้อที่ไต
  • ผ่าตัดเพื่อเอาหนองหรือตัดเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อออก

ในส่วนของการป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดสามารถทำได้ด้วยการ

  • ฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และอื่น ๆ
  • รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น การรักษาแผลให้สะอาด การล้างมือบ่อย ๆ
  • กรณีที่เริ่มมีอาการติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการรักษาที่รวดเร็วจะทำให้ได้ผลดีในการรักษา เนื่องจากเชื้อกระจายตัวได้เร็ว

อนึ่ง The UK Sepsis Trust ระบุว่า ผู้ที่รอดจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจะใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 18 เดือน กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ และประมาณร้อยละ 50 ของผู้รอดชีวิตจะประสบกับกลุ่มอาการหลังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Post-sepsis syndrome = PSS)

เรายังไม่ทราบถึงเหตุว่าทำไมจึงเกิดภาวะ PSS และคนส่วนใหญ่ทั้งตัวผู้ป่วยเอง แพทย์ ครอบครัว และเพื่อน ก็ไม่ทราบว่าผู้ป่วยมีปัญหานี้ ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีคนเข้าใจ

ซึ่งเคยมีงานวิจัยที่ระบุว่า ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มักจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี และ อย่างน้อยร้อยละ 60 มีการกลับเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก

แหล่งข้อมูล:

  1. Sepsis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sepsis/symptoms-causes/syc-20351214 [2020, Jul 14].
  2. Sepsis. https://www.healthline.com/health/sepsis [2020, Jul 14].
  3. Post Sepsis Syndrome. https://www.hey.nhs.uk/patient-leaflet/post-sepsis-syndrome/ [2020, Jul 14].
  4. Post-sepsis syndrome: overview of a relatively new diagnosis. https://www.nursingtimes.net/roles/hospital-nurses/post-sepsis-syndrome-overview-of-a-relatively-new-diagnosis-08-07-2019/ [2020, Jul 14].