ชะเอม (Liquorice)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ชะเอมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ชะเอมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ชะเอมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ชะเอมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ชะเอมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ชะเอมอย่างไร?
- ชะเอมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาชะเอมอย่างไร?
- ชะเอมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
บทนำ
ชะเอม (Liquorice หรือ Licorice) เป็นพืชประเภทไม้พุ่มขนาดเล็กมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มนุษย์ได้นำส่วนที่เป็นรากมาใช้ด้วยมีสารที่คุณสมบัติหลายประการเช่น สาร “Glycyrrhizin หรือ Glycyrrhizic acid หรือ Glycyrrhizinic acid ” ซึ่งมีรสหวานกว่าน้ำตาล 30 - 50 เท่าจึงเหมาะที่จะนำไปปรุงรสให้กับลูกกวาด ขนมหวานและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป อย่างประชาชนของสเปนและฝรั่งเศสชื่นชอบความหวานจากรากชะเอมเป็นอย่างมาก ประโยชน์ด้านอื่นเช่น นำไปแต่งกลิ่นในบุหรี่บางประเภท
สำหรับวงการเภสัชกรรมมีการใช้ชะเอม/รากของชะเอมเป็นทั้งยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ และยาแผนปัจจุบัน ในด้านสรรพคุณของชะเอม มีงานวิจัยว่าสารสกัดจากชะเอมสามารถต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสและเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบต่อร่างกายได้ ทั้งยังป้องกันโรคตับจากไวรัสและช่วยเพิ่มความดันโลหิต
นอกจากนี้ยังมีการนำสารสะกัดจากชะเอมมาผลิตเป็นยาทาผิวหนังเพื่อลดอาการอักเสบผื่นคัน บางกรณีก็ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ลดไขมันในเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และยังใช้สารสกัดของชะเอมไปเป็นส่วนประกอบของยาในการรักษามะเร็งอีกด้วย
ปัจจุบันสารสกัดของชะเอมถูกนำมาผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันหลายรูปแบบ ขนาดความเข้มข้นก็มีแตกต่างกันออกไป เราอาจจะจำแนกสารสกัดสำคัญที่น่าสนใจจากชะเอมได้ 2 ชนิดคือ Glycyrrhizin และ Enoxolone
ก. Glycyrrhizin: เป็นสารที่มีรสชาติที่หวานกว่าน้ำตาล 30 - 50 เท่า ถูกนำไปใช้กับวงการอาหารและเครื่องสำอาง ในประเทศญี่ปุ่นเคยมีการทดลองใช้ Glycyrrhizin เพื่อป้องกันมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีด้วยมีคุณสมบัติยับยั้งและป้องกันการเกิดบาดแผลที่ตับและได้รับการยืนยันทางคลินิก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในห้องทดลอง (In vitro against) พบว่า Glycyrrhizin ในชะเอมมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริม งูสวัด โคโรนาไวรัสที่ก่อโรคซาร์ (SARS) ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี และอี รวมถึงไวรัสสมองอักเสบ (Japanese encephalitis virus)
ผลข้างเคียงที่โดดเด่นของ Glycyrrhizin คือ จะทำให้เกิดการบวมน้ำ (Fluid retention) หรือมีการคั่งของน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อความดันโลหิตของผู้ป่วย
ข. Enoxolone: เป็นอีกสารหนึ่งที่สกัดได้จากชะเอม ใช้แต่งกลิ่นและมีรสขม ทางคลินิกถูกนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยขับเสมหะ และในบางเภสัชผลิตภัณฑ์ได้อ้างถึงคุณสมบัติที่ใช้ยับยั้งและต่อต้านเชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย และโปโตซัว อีกด้วย สาร Enoxolone มีกลไกยับยั้งการทำลายสารประเภทโพรสตาแกลนดิน/Prostaglandin/PG (PG E-2 และ PG F-2 alpha) ส่งผลให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและกระตุ้นให้ลำไส้เล็กสร้างเยื่อเมือกออกมามากขึ้น จึงส่งผลให้ผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กฟื้นสภาพจากความเสียหายได้เร็วขึ้น นัก วิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์สารเลียนแบบของ Enoxolone ได้แก่ สาร Carbenoxolone และ Acetoxo lone ซึ่งทั้งคู่มีฤทธิ์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและภาวะกรดไหลย้อน นอกจากนี้ Enoxolone ยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมของยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่กล่าวถึงสรรพคุณลดการอักเสบและภาวะเลือดออกจากเหงือกอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาชะเอม/สารสกัดของชะเอมมีหลายประเภทที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ผู้บริโภคควรต้องศึกษาและพิจารณารับฟังข้อมูลที่มีการอ้างอิงอย่างสมเหตุสมผลเท่านั้น ไม่ควรเชื่อจากการบอกต่อหรือทดลองใช้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใดต่อร่างกายเลย
ชะเอมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
จากข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ได้เคยมีการทดลองและวิจัยได้กล่าวอ้างสรรพคุณ/คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมว่ามีสรรพคุณเช่น
1. ต่อต้านเชื้อโรคต่างๆเช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย
2. บรรเทาอาการอักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
3. ช่วยป้องกันโรคที่อวัยวะตับ
4. เพิ่มความดันโลหิต
5. ขับเสมหะและบรรเทาอาการไอ
ชะเอมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
จากการศึกษาพบกลไกการออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมดังนี้
ก. Glycyrrhizin: ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า 11 Beta-hydroxy steroid dehydrogenase ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ รวมถึงช่วยกระตุ้นร่างกายให้มีการทำงานในลักษณะคล้ายยาสเตียรอยด์ที่เรียกว่า Mineralocorticoid activity นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยยังพบว่าสาร Glycyrrhizin ยังออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้หลายสายพันธุ์
ข. Enoxolone: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า 15-hydroxyprosta glandin dehydrogenase และ Delta-13-prostaglandin ส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณสารโพรสตาแกรนดิน (Prostaglandin) ในระบบทางเดินอาหารมากขึ้นทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร แต่จะกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อน และทำให้ผนังเซลล์ของกระเพาะอาหารสามารถฟื้นสภาพได้ดีขึ้น อีกทั้งกระตุ้นให้ลำไส้เล็กขับเยื่อเมือกออกมามากขึ้นและมีการกระตุ้นการบีบตัวของผนังลำไส้เล็ก จากกลไกเหล่านี้จึงช่วยบำบัดรักษาอาการของแผลในกระเพาะอาหารได้
ชะเอมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอม เช่น
- ยาฉีด Glycyrrhizin ขนาด 0.2%
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบกับยาอื่นเช่น Ammonium glycyrrhizinate 53 มิลลิกรัม + Glycine 400 มิลลิกรัม + L-cystine hydrochloride 20 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร
- ยาน้ำบรรเทาอาการไอ/ยาแก้ไอที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Ammonium carbonate 0.02 กรัม + Glycyrrhiza fluid extr 0.25 มิลลิลิตร/5 มิลลิลิตร
- Glycyrrhiza fluid extract 0.6 มิลลิลิตร + Antimony K tartrate 1.2 มิลลิกรัม + Camphorated opium tincture 0.6 มิลลิลิตร/5 มิลลิลิตร
- Camphorated opium tincture 0.45 มิลลิลิตร + Glycyrrhiza fluid extract 0.45 มิลลิลิตร/5 มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Glycyrrhizine siccum 400 มิลลิกรัม + Aluminium sodium silicium 280 มิลลิกรัม + Anhydrous Sodium sulphate 150 มิลลิกรัม + Bismuth subnitrate 150 มิลลิกรัม/เม็ด
- ครีมทาแก้ผิวหนังอักเสบ
- โลชั่นทาใบหน้า
- โฟมล้างหน้า
- ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก
ชะเอมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/ยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดของชะเอมมีหลากหลายรายการ การใช้ผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวจึงควรเป็นไปตามคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มชะเอมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา/ใช้ยาต่างๆรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสะกัดของชะเอมให้ตรงเวลา
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาชะเอม/สารสกัดของชะเอมสามารถรับ ประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ขนาดใช้ยาเป็น 2 เท่า
ชะเอมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจพบผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมได้ดังนี้เช่น มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่า หัวใจเต้นเร็วจนถึงหยุดเต้น มีภาวะเกลือโพแทส เซียมในเลือดต่ำ ไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลายสลาย ปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในร่างกายลดลง น้ำหนักตัวเพิ่ม
มีข้อควรระวังการใช้ชะเอมอย่างไร?
ควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาที่มีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จากชะเอม/สารสกัดของชะเอม
- ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หากเกิดอาการแพ้ยาหลังใช้ผลิตภัณฑ์ยาของชะเอม/สารสกัดจากชะเอมให้หยุดการใช้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ยาของชะเอม/สารสกัดของชะเอมที่หมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ยาของชะเอมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ชะเอมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาของผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมกับยารับประทานอื่นๆมีข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการที่อยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาอีกมากตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงสัตว์ ทดลอง แต่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปชัดเจน ดังนั้น เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ยาชะเอม/สารสกัดจากชะเอมกับยาแผนปัจจุบันใดๆแล้วมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยาร่วมกันทันทีแล้วกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษาต่อไป
ควรเก็บรักษาชะเอมอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง แดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชะเอมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ผลิตภัณฑ์ยาจากชะเอม/สารสกัดของชะเอมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ammonium Carbonate & Glycyrrhiza Mixture GPO (แอมโมเนียม คาร์บอเนต กลีเซอไรซ่า มิกซ์เจอร์ จีพีโอ) | GPO |
Brown Mixture British Dispensary (บราวน์ มิกซ์เจอร์ บริติช ดิสเพนซารี) | British Dispensary (L.P.) |
Brown Mixture GPO (บราวน์ มิกซ์เจอร์ จีพีโอ) | GPO |
Cetaphil Dermacontrol Oil-Control Foam Wash (ซีทาฟิล เดอร์มาคอนโทรล ออยล์-คอนโทรล โฟม วอช) | Galderma |
Cetaphil Dermacontrol SPF 30 Oil-Control Facial Moisturizer (ซีทาฟิล เดอร์มาคอนโทรล เอสพีเอฟ 30 ออยล์-คอนโทรล เฟเชียล มอยซ์เจอร์ไรเซอร์) | Galderma |
Mixture Tussis (มิกเจอร์ ทัสซิส) | Suphong Bhaesaj |
Ulgastrin (อัลแก๊สตริน) | A Diedenhofen |
Atopiclair (อะโทพิแคลร์) | Sinclair Pharma/A.Menarini |
DEPIDERM (เดพิเดอร์ม) | Elder |
S.N.M.C INJ (เอส.เอ็น.เอ็ม.ซี อิง) | Curewell |
STRONGER NEO-MINOPHAGEN-C (สตรองเกอร์ นีโอ-มิโนฟาเจน-ซี) | Ranbaxy (Rexcel) |
บรรณานุกรม
1.https://en.wikipedia.org/wiki/Liquorice#Tobacco [2015,Sept26]
2.https://en.wikipedia.org/wiki/Enoxolone [2015,Sept26]
3.https://en.wikipedia.org/wiki/Glycyrrhizin[2015,Sept26]
4.http://www.drugs.com/npp/licorice.html#ref2 [2015,Sept26]
5.http://www.amazon.com/Arthrodont-Enoxolone-Toothpaste-Sensitive-Minor-Bleeding/dp/B00E4PYXO6[2015,Sept26]
6.http://www.mims.com/India/drug/info/ATOPICLAIR/ATOPICLAIR%20cream [2015,Sept26]
7.http://www.mims.com/India/drug/search/?q=Glycyrrhizin[2015,Sept26]
8.http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Enoxolone[2015,Sept26]