แกรนูโลไซต์ แมโครฟาจ โคโลนี-สติมิวเลตทิงแฟกเตอร์: จีเอมซีเอสเอฟ (Granulocyte Macrophage colony -stimulating factor: GM-CSF)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักจะได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)กับระบบการทำงานของร่างกายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายที่ส่งผลให้การผลิตเม็ดเลือดขาวของไขกระดูกลดลง จนก่อให้เกิดปัญหาทำให้ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอลง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า “ยาแกรนูโลไซต์ แมโครฟาจ โคโลนี-สติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ หรือเขียนย่อว่า จีเอมซีเอสเอฟ(Granulocyte Macrophage colony-stimulating factor ย่อว่า GM-CSF)” หรืออีกชื่อคือ “Colony-stimulating factor 2 ย่อว่า CSF 2” หรืออีกชื่อคือ “Recombinant human Granulocyte Macrophage colony-stimulating factor ย่อว่า hGM-CSF ” เป็นสารชีวะโมเลกุลที่สามารถกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด(Stem Cell) ให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท Neutrophils, Eosinophils, Basophils, และ Monocytes ซึ่งประโยชน์ทางคลินิกของยาจีเอมซีเอสเอฟ มีดังนี้ เช่น

  • กระตุ้นให้ไขกระดูกเร่งสร้างเม็ดเลือดขาวหลังจากการทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง
  • ช่วยพัฒนาการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • เป็นยาที่ให้ผู้ป่วยก่อนและหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด (Peripheral blood stem cell transplantat)

ปัจจุบันเภสัชภัณฑ์ของยาจีเอมซีเอสเอฟ ที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นโดยเลียนแบบ ธรรมชาติมีอยู่ 2 รายการ คือ

ก. Sargramostim: เป็นยาจีเอมซีเอสเอฟ ที่ผลิตจากเชื้อราจำพวกยีสต์ที่มีดีเอ็นเอ(DNA)สายผสม มีชื่อยาการค้าว่า Leukine รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือทางหลอดเลือดดำก็ได้

ข. Molgramostim: เป็นอีกหนึ่งรายการของยาจีเอมซีเอสเอฟที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ภายใต้ชื่อการค้าว่า Leucomax ลักษณะเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเช่นเดียวกับ Sargramostim สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ

เพื่อประโยชน์ที่จะได้จากยาจีเอมซีเอสเอฟสูงสุดนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง หลังจากการทำเคมีบำบัดไปแล้ว 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้จีเอมซีเอสเอฟนั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย และชนิดของตัวยาซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาจีเอมซีเอสเอฟได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • กลุ่มสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาแอสไพริน หรือใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดต่างๆ นอกเสียจากจะมีคำสั่งจากแพทย์

การใช้ยาจีเอมซีเอสเอฟ ยังต้องอาศัยการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันประสิทธิผลของการรักษา เช่น การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวว่า มีปริมาณและความสมบูรณ์เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดหลังใช้ยานี้ โดยผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือและมารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

จีเอมซีเอสเอฟมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

จีเอมซีเอสเอฟ

ยาจีเอมซีเอสเอฟมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวประเภท Neutrophils, Eosinophils, Basophils และ Monocytes หลังการทำเคมีบำบัด
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูกหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด

จีเอมซีเอสเอฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาจีเอมซีเอสเอฟเป็นกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวให้มี ความสมบูรณ์ ทำให้ร่างกายสามารถใช้เม็ดเลือดขาวที่สร้างขึ้น ปกป้องคุ้มครองร่างกายจากกลุ่มเชื้อโรคต่างๆ

หมายเหตุ: ยาจีเอมซีเอสเอฟจะกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวได้หลายชนิด เช่น Granulocytes ซึ่งประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils, Eosinophils, และ Basophils รวมถึงเม็ดเลือดขาวชนิด Monocytes จึงทำให้ยานี้มีความแตกต่างจากยาจีซีเอสเอฟ (G-CSF) ที่สามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils เท่านั้น

จีเอมซีเอสเอฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาจีเอมซีเอสเอฟมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีดที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ

จีเอมซีเอสเอฟมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยา/บริหารยาจีเอมซีเอสเอฟกับผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย รวมถึงชนิดของตัวยาซึ่งมีความแตกต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้ใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยมากที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาจีเอมซีเอสเอฟ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาจีเอมซีเอสเอฟอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

จีเอมซีเอสเอฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มจีเอมซีเอสเอฟสามารถกระตุ้นให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ แน่นหน้าอก มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก

*อนึ่ง การได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาด จะทำให้มี อาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ กรณีนี้แพทย์จะรักษาประคับประคองตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้จีเอมซีเอสเอฟอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้จีเอมซีเอสเอฟ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วพบอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ผื่นขึ้นตามร่างกาย จะต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบ/มาโรงพยาบาลทันที เพื่อดำเนินการรักษาโดยเร็ว
  • ต้องมารับยากลุ่มนี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆ โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดโรคต่างๆ
  • ดื่มน้ำเป็นปริมาณมากตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดอาการข้างเคียงบางประการ เช่น การเกิดอาการไข้ การเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำจากมีเหงื่อออกมาก
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกาย และเพื่อการตรวจเลือดดูปริมาณของเม็ดเลือดขาว ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาจีเอมซีเอสเอฟด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

จีเอมซีเอสเอฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาจีเอมซีเอสเอฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ ยาSargramostim ร่วมกับยา Lithium และ Corticosteroids เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Sargramostim มากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาMolgramostim ร่วมกับยา Bleomycin(ยาเคมีบำบัด) ด้วยจะทำให้เกิดพิษต่อปอดของผู้ป่วยตามมา

ควรเก็บรักษาจีเอมซีเอสเอฟอย่างไร?

กลุ่มยาจีเอมซีเอสเอฟ ควรถูกจัดเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

จีเอมซีเอสเอฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาจีเอมซีเอสเอฟ มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Leukine (ลูคีน)Sanofi Aventis
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Granulocyte-macrophage_colony-stimulating_factor#Medical_use [2018,March31]
  2. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/gm-csf.aspx [2018,March31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sargramostim/?type=brief&mtype=generic [2018,March31]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/molgramostim/?type=brief&mtype=generic [2018,March31]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00020 [2018,March31]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB12525 [2018,March31]
  7. https://www.drugs.com/international/molgramostim.html [2018,March31]