จีฟิทินิบ (Gefitinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาจีฟิทินิบ(Gefitinib) อยู่ในกลุ่มยารักษาตรงเป้า(Targeted therapy) มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับ ยา Erlotinib ทางคลินิกนำมารักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer) แพทย์จะใช้ยาจีฟิทินิบเมื่อเกิดความล้มเหลวจากการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเช่นยา Platinum-based และ Taxane-based

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาจีฟิทินิบเป็นแบบยารับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 59% ยานี้จะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6-49 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับอุจจาระ

สำหรับข้อควรระวังก่อนใช้ยาจีฟิทินิบมีดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า ตนเองมีประวัติการใช้ยาต่างๆหรือแพ้ยาอะไรบ้าง
  • ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆเมื่อต้องใช้ยาจีฟิทินิบ นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
  • หากอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ด้วยยาชนิดนี้มี ผลกระทบต่อเด็กทารก

และระหว่างที่ได้รับจีฟิทินิบยังต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)หรือสิ่งผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย กรณีที่พบอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

  • คลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อจะรับประทานอาหาร และยาแก้คลื่นไส้ที่แพทย์สั่งจ่าย ใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการท้องเสีย 4–6 ครั้งต่อวัน
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปัสสาวะลดลง หรือมีสีคล้ำ
  • ปากแห้ง
  • ระคายเคืองตา
  • ไม่สามารถดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • มีไข้ ผิวหนังลอก หรือมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • ไอเป็นเลือด
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง

ปัจจุบัน มีการจัดจำหน่ายยาจีฟิทินิบมากกว่า 64 ประเทศ เมื่อปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545)ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่เริ่มนำยานี้เข้ามาใช้ ยาจีฟิทินิบเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีอันตราย และต้องใช้ยาภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลภายใต้ชื่อการค้าว่า Iressa

จีฟิทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

จีฟิทินิบ

ยาจีฟิทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer)

จีฟิทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ที่ผิวของเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติจะมีตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Epidermal growth factor receptor ย่อว่า EGFR เมื่อสารชีวะโมเลกุล อย่างเช่น Growth factor (GF, สารโปรตีน/โปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญของเซลล์)เข้ามาจับกับ EGFR จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมของสารโปรตีนที่อยู่ภายในเซลล์ เช่น เกิดการเพิ่มจำนวนสารโปรตีนอย่างรวดเร็วคล้ายกับการลุกลาม หรือกระตุ้นให้สร้างหลอดเลือด และยับยั้งการตายของเซลล์ กิจกรรมของสารโปรตีนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อเอนไซม์ชื่อไทโรซีนไคเนส(Tyrosine kinase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของโปรตีน)ซึ่งอยู่ภายในเซลล์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับกรดอะมิโนที่ชื่อว่าไทโรซีน กรดอะมิโนชนิดนี้เชื่อมต่อกับ EGFR ภายใต้เยื่อหุ้มเซลล์ด้านใน

ยาจีฟิทินิบเป็นยาประเภท Tyrosine kinase inhibitor ที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของ ไทโรซีนไคเนส จึงเป็นเหตุให้กิจกรรมของโปรตีนในเซลล์หยุดลง ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด

จีฟิทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาจีฟิทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน แบบเคลือบฟิล์มที่ประกอบด้วย Gefitinib ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด

จีฟิทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาจีฟิทินิบ มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ แต่ผู้เดียว ทั่วไป แพทย์จะให้รับประทานยานี้เพียงวันละ1ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง หรือพร้อมอาหารก็ได้ และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนด้าน ขนาด ประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขณะได้รับประทานยานี้ควรปฏิบัติตนและดูแลตนเองดังนี้ เช่น

  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • ลดอาการข้างเคียง อย่างเช่น อาการคลื่นไส้ โดยใช้ยาที่สั่งจ่ายจากแพทย์ผู้ที่รักษาผู้ป่วย ไม่ซื้อหายาใดๆมารับประทานเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งมีแสงแดดจัดๆ ก่อนออกแดดควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และ/หรือสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด
  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และพักผ่อนให้พอเพียง เพื่อให้การฟื้น สภาพร่างกายเป็นไปง่ายขึ้น
  • ห้ามดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามสูบบุหรี่
  • หากพบอาการข้างเคียงใดๆที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบนำผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา จีฟิทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาจีฟิทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาจีฟิทินิบต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง จึงจะเกิดประสิทธิผลในการรักษา กรณีลืมรับประทาน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากลืมรับประทานยานานเกิน 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ และในเวลาเดิมของมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มปริมาณรับประทานเป็น 2 เท่า

จีฟิทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาจีฟิทินิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ ปากแห้ง เกิดแผลในทางเดินอาหาร มีภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจมีเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ แต่มีโอกาสพบได้น้อย มีไข้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง ผื่นคัน ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ด ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ ตาแห้ง หนังตาอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น บิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบ(Interstitial lung diseases)
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีอะตินีน(Creatinine)ในเลือดสูง มีภาวะไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้จีฟิทินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาจีฟิทินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยาโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับปอดของผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ เช่น หายใจลำบาก
  • ห้ามทิ้งทำลายยานี้ลงในคูคลองสาธารณะ รวมถึงบนพื้นดิน
  • ระวังการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้ยาจีฟิทินิบกับตับของผู้ป่วย ทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจร่างกายผู้ป่วยพร้อมกับตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติดีหรือไม่
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาจีฟิทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

จีฟิทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาจีฟิทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาจีฟิทินิบร่วมกับยาThioridazine เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาจีฟิทินิบร่วมกับยา Teriflunomide, Leflunomide ด้วยจะทำให้เกิดพิษกับตับมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาจีฟิทินิบร่วมกับ ยาButalbital เพราะจะทำให้ระดับยาจีฟิทินิบที่มีใน กระแสเลือดลดลงจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาจีฟิทินิบด้อยลงตามกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาจีฟิทินิบร่วมกับ ยาAmiodarone จะส่งผลให้ระดับยาจีฟิทินิบใน กระแสเลือดมากขึ้นจนอาจทำให้ได้รับอาการข้างเคียงสูงมากขึ้นจากยาจีฟิทินิบ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาจีฟิทินิบอย่างไร?

ควรเก็บยาจีฟิทินิบภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และไม่เก็บยาที่หมดอายุ

จีฟิทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาจีฟิทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Iressa (ไอเรสซา)AstraZeneca

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/gefitinib.aspx [2018,July7]
  2. https://www.youtube.com/watch?v=SXwrZWx4pMo [2018,July7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Gefitinib#Mechanism_of_action [2018,July7]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/iressa/?type=brief [2018,July7]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/gefitinib/ [2018,July7]
  6. https://www.drugs.com/mtm/gefitinib.html [2018,July7]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/gefitinib-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July7]
  8. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/021399lbl.pdf [2018,July7]