จีซีเอสเอฟ (G-CSF)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาจีซีเอสเอฟ (G-CSF) หรือ Granulocyte-colony stimulating factor เป็นสารอินทรีย์ประเภทโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสเต็มเซลล์ (Stem cell, เซลล์ต้นกำเนิด) ของเม็ดเลือดขาว

นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์จีซีเอสเอฟที่ใช้กับมนุษย์ได้ครั้งแรกในปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) โดยใช้จุลชีพจำพวกยีสต์ (เชื้อรากลุ่มหนึ่ง) และแบคทีเรียกลุ่ม อี.โคไล (E.coli) เป็นเซลล์ต้นกำเนิด และนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการให้ยาเคมีบำบัดหรือผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี (รังสีรักษา) ด้วยโรค มะเร็ง จนทำให้ร่างกายชะลอการสร้างเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นภูมิต้านทานเชื้อโรคที่สำคัญของร่างกาย ในภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวต่ำจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก จีซีเอสเอฟช่วยทำให้ร่างกายปลดปล่อยเม็ดเลือดขาวและสเต็มเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดมากยิ่งขึ้น เม็ดเลือดขาวจะต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนสเต็มเซลล์จะช่วยร่างกายซ่อมแซมเซลล์ของอวัยวะได้ดียิ่งขึ้น

ยาจีซีเอสเอฟ ไม่ใช่ยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นยาที่ช่วยบำบัดและทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่บกพร่องจากเม็ดเลือดขาวต่ำกลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงกับของเดิม

ในทางเภสัชภัณฑ์จีซีเอสเอฟถูกพัฒนาเป็นรูปแบบของยาฉีด และจัดเป็นประเภทยาอันตราย บางสูตรตำรับได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมพิเศษและมีใช้ในเฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น

ยาจีซีเอสเอฟมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

จีซีเอสเอฟ

ยาจีซีเอสเอฟมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาและบำบัดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) อันเนื่องจากได้รับยาเคมีบำบัดหรือจากรังสีรักษาในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
  • ฟื้นฟูภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในผู้ป่วยมะเร็งที่ทำการปลูกถ่ายไขกระดูก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะ เร็ง)
  • บำบัดอาการจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในผู้ป่วยด้วยโรคเอชไอวี

ยาจีซีเอสเอฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาจีซีเอสเอฟคือ ตัวยาจะกระตุ้นไขกระดูกให้เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว รวมถึงกระตุ้นการสร้างสเต็มเซลล์ซึ่งช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายของอวัยวะในร่างกาย ด้วยกลไกข้างต้นจึงทำให้จีซีเอสเอฟมีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาจีซีเอสเอฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาจีซีเอสเอฟมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 30 และ 48 เอ็มยู (MU, หน่วยทางยา)/0.5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 480 ไมโครกรัม/1.6 มิลลิลิตร
  • ยาผงชนิดละลายก่อนฉีด ขนาด 150 และ 300 ไมโครกรัม/ขวด

ยาจีซีเอสเอฟมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาจีซีเอสเอฟมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ภายในเวลา 15 - 30 นาที

ข. สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก: หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 10 ไมโคร กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันภายในเวลา 4 - 24 ชั่วโมง

ค. ป้องกันและบำบัดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในผู้ป่วยเอชไอวี: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 5 ไมโคร กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาจีซีเอสเอฟ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพรายาจีซีเอสเอฟอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาจีซีเอสเอฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาจีซีเอสเอฟอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • กรดยูริคในเลือดเพิ่มสูงขึ้น (โรคเกาต์)
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • อ่อนแรง
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีไข้
  • อาจหนาวสั่น
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร
  • เจ็บหน้าอก
  • ผื่นคัน
  • ภาวะตับโต
  • ตรวจเลือดพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้ยาจีซีเอสเอฟอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาจีซีเอสเอฟ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในตัวยาจีซีเอสเอฟ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงแต่กำเนิด (Severe Congenital Neutro penia)
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ถ้าใช้ยาจีซีเอสเอฟเกิน 6 เดือน ควรตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาวว่ากลับมาเป็นปกติหรือไม่ รวมถึงคอยตรวจสอบมวลและความหนาแน่นของกระดูกว่าปกติหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com เรื่อง การตรวจความหนาแน่นกระดูก)
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาจีซีเอสเอฟด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาจีซีเอสเอฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ห้ามใช้ยาจีซีเอสเอฟทันทีหลังการทำเคมีบำบัด ต้องเว้นระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 24 ชั่วโมงไปแล้วจึงสามารถใช้ยาจีซีเอสเอฟกับผู้ป่วยได้

ควรเก็บรักษายาจีซีเอสเอฟอย่างไร?

ควรต้องเก็บยาจีซีเอสเอฟ เช่น

  • เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาจีซีเอสเอฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาจีซีเอสเอฟ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Granocyte (แกรโนไซท์) Chugai
Leuco-Plus (ลูโค-พลัส) Apexcela
Neupogen (นูโพเจน) Roche
Neutromax (นูโทรแม็กซ์) Bio Sidus

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Granulocyte_colony-stimulating_factor [2020,July4]
  2. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/cancer-drugs/drugs/g-csf [2020,July4]
  3. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/g-csf.aspx#.VDYJ32eSwug [2020,July4]
  4. https://patents.google.com/patent/EP2341061B1/en [2020,July4]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=granulocyte%20colony%20stimulating%20factor [2020,July4]
  6. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fNeupogen%2f%3ftype%3dbrief [2020,July4]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fNeutromax%2f%3ftype%3dbrief [2020,July4]
  8. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fsargramostim%3fmtype%3dgeneric [2020,July4]
  9. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fsargramostim%2f%3ftype%3dbrief%26mtype%3dgeneric [2020,July4]