จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 334: การฝึกฝนและการเข้ารหัส (2)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 5 กันยายน 2564
- Tweet
ในการวิจัยครั้งหนึ่ง มีการให้นักเรียนจดจำคำแปล กลุ่มคำอย่างละ 3 คำ เช่น Dog = หมา, Bike = จักรยาน, และ Road = ถนน โดยเริ่มต้นให้ นักเรียนที่เข้ารหัส (Encode) คำศัพท์ โดยการฝึกฝนให้คงสภาพ (Maintenance rehearsal) กล่าวคือ ให้นักเรียนพูดศัพท์ซ้ำๆ แบบท่องจำ
จากนั้น มีการเปรียบเทียบกับนักเรียนที่เข้ารหัสคำศัพท์โดยใช้การฝึกฝนอย่างละเอียด (Elaborative rehearsal) โดยให้นักเรียนพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 3 คำดังกล่าว คือ Dog rides a bike down the street = หมาขี่จักยานไปตามถนน ทำให้นักเรียนสามารถระลึกถึงคำแปลของศัพท์ได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
การฝึกฝนอย่างละเอียดเป็นระบบที่มีประสิทธิผลในการเข้ารหัส เพราะด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่และข้อมูลเก่าจะสร้างสิ่งชี้นำที่ระบุตำแหน่งหรือระลึกถึงข้อมูลใหม่จากความทรงจำระยะยาว (Long-term memory)
ระบบที่แย่ที่สุดสำหรับการเข้ารหัสข้อมูลคือการแค่พูดข้อมูลซ้ำไปซ้ำมา อันเป็นการฝึกฝนเพื่อคงสภาพ ระบบการเข้ารหัสที่ดีที่สุดเป็นการสร้างความเชื่อมโยง อันคือการฝึกฝนอย่างละเอียด การที่มนุษย์ต้องใช้ความพายายามและเวลาในการเข้ารหัสคือรากฐานของทฤษฎีระดับการประมวลผล (Level-of-processing theory)
ทฤษฎีดังกล่าว กล่าวว่าการจดจำขึ้นอยู่กับวิธีการเข้ารหัส ถ้ามนุษย์เข้ารหัสโดยการเพ่งความสนใจเพียงแค่คุณสมบัติของสิ่งพื้นฐานเ (เช่นความยาวของหมายเลขโทรศัพท์) ซึ่งข้อมูลนี้มีการเข้ารหัสเพียงระดับตื้น และให้ผลลัพธ์ในการระลึกถึงที่แย่ ถ้ามนุษย์เข้ารหัสโดยการสร้างความเชื่อมโยงใหม่ในข้อมูลนั้นจะมีการเข้ารหัสที่ลึกลง อันส่งผลให้มีการระลึกถึงที่ดีกว่า
ยกตัวอย่างเช่นมีการแสดงลำดับคำศัพท์ให้เด็กนักเรียน และมีการตั้งคำถามในแต่ละข้อ ซึ่งคำถามมี 3 ประเภทเพื่อกระตุ้น 3 ระดับของการประมวลผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
(1) คำถามการประมวลผลที่ตื้น เช่น คำศัพท์พวกที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ในภาษาอังกฤษ อันเป็นลักษณะทางกายภาพของคำศัพท์
(2) คำถามการประมวลผลที่ลึกลงมา เช่นคำศัพท์ที่มีความคล้องจองกับเสียงอ่าน หรือคำสัมผัส และ
(3) คำถามการประมวลผลในระดับลึกที่สุด ซึ่งคำศัพท์พวกนั้นสามารถใส่ลงไปในช่องว่างประโยคได้ เช่นเธอมาสายเนื่องจาก ……. ซึ่งเป็นการถามความหมายของคำศัพท์
หลังจากที่นักเรียนตอบคำถามข้างต้นแล้ว ได้มีการทดสอบว่ามีคำศัพท์ที่พวกเขาจดจำได้มากน้อยแค่ไหน ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่านักเรียนสามารถจดจำคำศัพท์ได้เปอร์เซ็นต์น้อยที่สุดหลังจากได้ตั้งคำถามการประมวลผลที่ตื้น และจำได้ดีที่สุดหลังจากตั้งคำถามการประมวลผลในระดับลึกที่สุด การศึกษานี้แสดง (Demonstrate) ให้เห็นชัดเจนว่าระบบที่มนุษย์ใช้ในการประมวลผลหรือเข้ารหัสข้อมูลมีอิทธิพลต่อความสามารถมนุษย์ที่จะจดจำหรือระลึกถึงข้อมูลนั้นได้ยากง่ายแค่ไหน สรุปก็คือ เหตุผลหลักที่มนุษย์หลงลืม คือการเข้ารหัสที่ไม่ดีพอ
แหล่งข้อมูล:
- Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Rehearsal - https://en.wikipedia.org/wiki/Rehearsal [2021, Sep 4].