จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 328: การเก็บความทรงจำระยะยาว (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-328

      

กรณีของเอชเอ็ม (H.M.) ซึ่งสูญเสียความทรงจำไปมาก (Severe) เนื่องจากการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการชัก (Seizure) ก่อนหน้านี้ ต่อมาเขาได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้วยการวาดรูปดาว (Star) ที่สะท้อนในกระจก (Mirror-drawing) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก

ในการวาดรูปดาวดังกล่าว เมื่อมองเข้าไปในกระจก การเคลื่อนไหวของมือจะกลับกัน (Reverse) กล่าวคือ บนเป็นล่าง, ล่างเป็นบน เป็นต้น แต่เขาก็สามารถพัฒนาทักษะการวาดรูปดาวให้ดีขึ้นทุกๆ วัน อย่างไรก็ตาม เขาสูญเสียความทรงจำความหมาย (Semantic) เพราะจำข้อเท็จจริง (Fact) ไม่ได้ และยังสูญเสียความทรงจำเหตุการณ์ (Episodic) เพราะจำเหตุการณ์ (Event) ที่เกิดขึ้นไม่ได้

ทั้งคู่เป็นปรากฏการณ์ (Phenomenon) ของความทรงจำชัดแจ้ง (Declarative) แต่เขาสามารถพัฒนาทักษะของการเคลื่อนไหว (Motor skill) ระหว่างการวาดรูปหน้ากระจก แสดงว่า ยังมีความทรงจำระยะยาวอีกประเภทหนึ่ง

แม้ว่าบางคนสามารถเล่นเทนนิส และกลัวแมงมุม แต่พวกเขาไม่สามารถอธิบายได้ว่าพวกเขาสามารถควบคุมกล้ามเนื้อเพื่อเล่นเทนนิสได้อย่างไร หรือทำไมพวกเขาถึงหวาดกลัวแมลงตัวเล็กที่ไม่สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ เพราะทักษะด้านกล้ามเนื้อหรืออารมณ์ความรู้สึกถูกจัดเก็บในความทรงจำเชิงกระบวนวิธี (Procedural)

ความทรงจำดังกล่าว เรียกอีกชื่อว่าความทรงจำที่ไม่ชัดแจ้ง หมายถึงความทรงจำด้านทักษะทางกล้ามเนื้อ (เช่น ตีเทนนิส), ความสามารถทางการรับรู้ (Cognitive) (เช่น เรียนรู้การอ่าน), และพฤติกรรมอารมณ์ที่เรียนรู้ผ่านการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical conditioning) เช่น การกลัวแมงมุม ซึ่งคนเราไม่สามารถระลึกถึงความทรงจำประเภทนี้ได้

แม้ว่าไม่ได้เล่นเทนนิสมานานเป็นปี นักเทนนิสก็ยังสามารถหยิบไม้ (Racket) ขึ้นมา แล้วยังจดจำการเสิร์ฟ (Serve) ลูกได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดเก็บไว้ในความทรงจำเชิงกระบวนวิธี แต่พวกเขาอาจไม่สามารถบอกลำดับการเคลื่อนไหว (Sequence of movement) ที่จำเป็นในการเสิร์ฟลูกบอลได้

เหตุการณ์นี้คล้ายกับกรณีที่บางคนเรียนรู้ถึงการกลัวแมงมุม ผ่านการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค โดยที่พวกเขาจะไม่สามารถอธิบาย (Explain) ได้ว่าทำไมถึงกลัว เพราะข้อมูล (Information) พวกนี้ถูกการจัดเก็บในความทรงจำเชิงกระบวนวิธีในระยะยาว

ความทรงจำเชิงกระบวนวิธีมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม (Behavior) ค่อนข้างมากของคนเรา โดยที่เราจะไม่รับรู้หรือไม่สามารถระลึกถึง (Recall) ความทรงจำนี้ได้ ซึ่งตอนนี้เราสามารถอธิบายถึงพฤติกรรมที่แปลกประหลาด (Strange) ของเอชเอ็มได้

การที่เขามีการพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อในการวาดรูปดาวผ่านกระจกได้ เพราะการเรียนรู้นี้ถูกจัดเก็บในความทรงจำเชิงกระบวนวิธีในระยะยาว แต่เขาไม่สามารถอธิบายหรือจดจำได้ว่าเขาทำได้อย่างไร เพราะข้อมูลนี้อยู่ในความทรงจำชัดแจ้งของเขาซึ่งถูกทำลายจากการผ่าตัดสมอง (Brain surgery) ก่อนหน้านี้ จนสูญเสียความทรงจำดังกล่าวไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
  2. Memoryhttps://en.wikipedia.org/wiki/Memory[2021, July 24].