จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 290: ตารางการเสริมแรง (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-290

      

การวิเคราะห์ตารางการเสริมแรง (Schedule of reinforcement) โดยสกินเนอร์ (Skinner) สามารถนำมาใช้งานได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ตารางการจ่ายเงิน (Schedule of pay) ในโรงงาน จะเพิ่มอัตราความเร็วการทำงานของพนักงาน

ขณะเดียวกันตารางผลตอบแทน (Pay-off) จะเพิ่มความเร็วและความวิริยะ (Persistence) ของเหล่านักเล่นตู้พนัน (Slot machine) ที่แตกต่างกัน ตารางดังกล่าว อธิบายว่าทำไมคุณคอยใส่เงินเข้าไปเล่นในตู้ทั้งๆ ที่คุณรู้ว่าบางทีมันอาจจะกินเงินของคุณ และทำไมคนถึงชอบเล่นหวยโดยที่โอกาสชนะมีแค่ 1 ใน 18,000,000

การที่นกพิราบ (Pigeon) ได้รับการเสริมแรงหลังจากที่จิก (Peck) กุญแจ 6 ครั้งหรือพนักงานโรงงานได้รับเงินหลังจากแพ็คกล่อง 6 ใบ เป็นตัวอย่างของตารางอัตราส่วนคงที่ (Fixed-ratio schedule) บ่อยครั้งตารางประเภทนี้ ใช้ในการจ่ายเงินพนักงานสายการประกอบชิ้นส่วน (Assembly) ในโรงงาน ยิ่งประกอบเสร็จจำนวนชิ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะได้เงินมากขึ้นเท่านั้น

สมมุติว่านกพิราบได้รับสิ่งเสริมแรงหลังจากการจิก (Peck) กุญแจ 12, 6, 8, และ 2 ครั้ง โดยมีค่าเฉลี่ยของการจิกเป็น 7 ครั้ง หรือตู้พนัน (สิ่งเสริมแรง) จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เล่น หลังจากการดึงคานโยก ถัวเฉลี่ย 7 ครั้ง ทั้งสองนี้ เรียกว่าตารางอัตราส่วนผันแปร (Variable-ratio schedule)

ตารางดังกล่าว จะผลิตอัตราสูงของการตอบสนอง (High rate of responding) เนื่องจากทั้งนกพิราบและผู้เล่นตู้พนัน ต่างไม่ทราบว่า การตอบสนองครั้งไหนจะให้ผลตอบแทนในที่สุด

สมมุติว่านกพิราบได้รับสิ่งเสริมแรงจากการจิกกุญแจครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจาก 2 นาที หรือนักเล่นกระดานโต้คลื่น (Surfer) ได้คลื่นลูกใหญ่ที่มาเป็นชุดปกติ (Regular sets of waves) เป็นสิ่งเสริมแรงในทุก 30 วินาที ทั้งสองก็เป็นตัวอย่างของตารางช่วงเวลาคงที่ (Fixed-interval schedule)

ตารางประเภทนี้ ให้ผลลัพธ์การตอบสนองช้าในช่วงแรก แต่พอสิ่งเสริมแรงใกล้เข้ามา อัตราการตอบสนองจะเร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (Greatly accelerate)

สมมุติว่านกพิราบได้รับสิ่งเสริมแรงจากการตอบสนองครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลา (Interval) ของ 12, 6, 8, และ 2 นาที โดยมีค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาเป็น 7 นาที หรือรถประจำทาง (Bus) มาถึง (สิ่งเสริมแรง) ที่ป้ายของคุณช้าไปในเวลาเฉลี่ย 7 นาที ซึ่งเรียกว่า ตารางช่วงเวลาแปรผัน (Variable interval schedule) เป็นสิ่งเสริมแรงที่ทำให้คุณมาถึงช้าเพื่อขึ้นรถประจำทางของคุณ ผลที่ตามมาก็คืออัตราของการตอบสนองของคุณจะเร็วขึ้นกว่าตารางช่วงเวลาคงที่

ในห้องทดลอง (Laboratory) สกินเนอร์ แสดงให้เห็นถึงการเสริมแรงบางส่วน (Partial reinforcement) ต่อให้มีอัตราที่ต่ำ ของสิ่งเสริมแรงเดียวต่อค่าเฉลี่ยของ 200 ครั้งของการตอบสนอง นกพิราบก็จะคงการจิกกุญแจ ในโลกความเป็นจริงพฤติกรรมคนหลายๆ อย่างเช่นการเรียนหนังสือเพื่อสอบ, การทำงานในที่ทำงาน, หรือการห่วงใย (Affectionate) ความสัมพันธ์ จะยังคงไว้ในหนึ่งใน 4 รูปแบบใดของตารางการเสริมแรงข้างต้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Operant conditioninghttps://en.wikipedia.org/wiki/Operant_conditioning[2020, October 31].