จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 282: เงื่อนไขการกระทำกับเงื่อนไขคลาสสิค (1)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 5 กันยายน 2563
- Tweet
ตามที่เราเคยพูดถึง เจ้าหมีบาร์ต (Bart) ถูกวางเงื่อนไขการกระทำ ให้อุ้มตุ๊กตาหมี (Teddy bear) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะไม่เคยเกิดขึ้น หากมันอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ (Wild)
ทั้งการวางเงื่อนไขการกระทำ (Operant conditioning) และการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical conditioning) นำไปสู่การเรียนรู้ แม้ว่าสองอย่างที่กล่าวไปมีขั้นตอนและหลักการที่แตกต่างกัน อันจะทำให้สับสนเล็กน้อย
เราจะมาทำให้ชัดเจนโดยการเปรียบเทียบ (Comparison) ระหว่างหลักการและขั้นตอน ผ่านตัวทดลองเดียวกัน คือหมีบาร์ต ซึ่งอาจเป็นสัตว์ทดลองที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเริ่มจาก . . .
1. เป้าหมาย (Goal) ของการวางเงื่อนไขการกระทำคือการเพิ่ม (Increase) หรือลด (Decrease) อัตราของการตอบสนองบางอย่างซึ่งมักเกี่ยวโยงกับการก่อร่าง (Shaping) ในกรณีของบาร์ตเป้าหมายคือเพิ่มอัตราให้มันอุ้มตุ๊กตาหมี
2. การตอบสนองโดยสมัครใจ (Voluntary response) พฤติกรรมของบาร์ตในการอุ้มตุ๊กตา เป็นการตอบสนองที่สมัครใจเพราะมันแสดงออกโดยมิได้ถูกบังคับ กล่าวคือ มันต้องเริ่มทำการตอบสนองโดยสมัครใจก่อนที่จะได้รับรางวัล (Reward)
3. การตอบสนองที่แสดงออกมา (Emitted) กล่าวคือบาร์ตสมัครใจที่จะแสดงหรือทำให้เกิดการตอบสนองบางอย่าง ซึ่ง บี เอฟ สกินนอร์ (B. F. Skinner) เรียกว่าการตอบสนองทางการกระทำ (อุ้มตุ๊กตาหมี)
สกินเนอร์ใช้คำว่าแสดงออกมาเพื่อบ่งชี้การกระทำ (Act) หรือการทำงาน (Operate) ของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อม (Environment) หนึ่ง ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว สัตว์และคนถูกก่อร่างขึ้นเพื่อแสดงการตอบสนองที่ต้องการ (Desired)
4. ขึ้นอยู่กับ (Contingent) พฤติกรรม กล่าวคือ การกระทำ (Performance) ของบาร์ตในการตอบสนองที่ต้องการขึ้นอยู่หรือผูกพันกับผลที่จะตามมา (Consequence) หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่บาร์ตอุ้มตุ๊กตา ผลที่จะตามของมันคือได้รับ ลูกแอปเปิ้ล อันเป็นรางวัล ที่เพิ่มโอกาสให้มันแสดงออกอีกซึ่งการตอบสนองที่ต้องการในอนาคต
สิ่งเสริมแรง (Reinforcer) ต้องเกิดขึ้นทันที (Immediate) หลังจากการตอบสนองที่ต้องการ ในกรณีของบาร์ตจะได้รับสิ่งเสริมแรง (ลูกแอปเปิ้ล) ทันทีหลังจากที่มันอุ้มตุ๊กตา
ถ้าให้สิ่งเสริมแรงช้าเกินไปอาจส่งผลให้มันถูกวางเงื่อนไขกับสิ่งที่ไม่ต้องการหรือการตอบสนองที่งมงาย (Superstitious)
5. ผลที่จะตามมา กล่าวคือ การแสดงออกของพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์หรือคนขึ้นอยู่หรือผูกพันบนผลที่จะตามมา ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ผลที่จะตามมาของบาร์ตในการหยิบและอุ้มตุ๊กตานั้น คือการได้รับลูกแอปเปิ้ล
ดังนั้นในการวางเงื่อนไขการกระทำ สัตว์หรือคนเรียนรู้ว่าการแสดงหรือการทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง จะตามมาด้วยผลพวง ซึ่งอาจเป็นรางวัลหรือบทลงโทษ (Punishment) และในทางกลับกัน จะเพิ่มหรือลดโอกาสของการแสดงพฤติกรรมนั้นอีกครั้ง
แหล่งข้อมูล:
- Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
- Operant conditioninghttps://en.wikipedia.org/wiki/Operant_conditioning[2020, September 5].
- B. F. Skinner - https://en.wikipedia.org/wiki/B._F._Skinner[2020, September 5].