จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 280: การวางเงื่อนไขการกระทำ (5)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-280

      

คนเราอาจแสดงพฤติกรรมมากมายผ่านการเรียนรู้การวางเงื่อนไขการกระทำ (Operant conditioning) โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น เราเกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไขการกระทำ ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะหยอดเงินใส่ตู้เพลง (Jukebox) เพื่อฟังเพลง, ขับผ่านไฟเหลืองจารจรเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุด, หรือเรียนหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้คะแนนดี

หรือแม้กระทั่งการให้ดอกไม้แก่คนที่เรารัก เพื่อเห็นรอยยิ้มของพวกเขา แล้วเราอาจะทำสิ่งเหล่านี้ต่อ เพราะมันตามมาด้วยการเสริมแรง (Reinforcement) ที่จะเพิ่มโอกาสให้เรากระทำพฤติกรรมเหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ

เพื่อทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าการวางเงื่อนไจการกระทำดำเนินการอย่างไร ในตอนนี้เราจะมาพูดคุยถึงขั้นตอน (Procedures) และหลักการ (Principles) ที่ใช้โดยพ่อแม่ เพื่อแก้ปัญหา 2 ข้อ ที่พบบ่อย เช่นการสอนลูกใช้ห้องน้ำและสอนให้ลูกหยุดปฏิเสธการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ตามตัวเลขสถิติที่ได้มีการบันทึกไว้ ในช่วงปีคริสต์ทศวรรษ 1960s, 90% ของเด็กถูกฝึกให้ใช้ห้องน้ำตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990s ตัวเลขได้ตกลงถึง 30% สาเหตุเป็นเพราะว่าพ่อแม้หลายๆ คนไม่รู้ว่าทำอย่างไร จึงจะฝึกลูกตนเองได้

ลองจินตนาการว่า เราเป็นพ่อแม่ของเด็กอายุ 3 ขวบที่ชื่อว่าเชอร์ริล (Sherryl) ซึ่งโตพอที่จะเรียนรู้การใช้ห้องน้ำเอง และนี่เป็นวิธีฝึกการใช้ห้องน้ำโดยใช้เทคนิคการวางเงื่อนไขการกระทำ

1. พฤติกรรมเป้าหมาย (Target behavior) – คือการฝึกให้เชอร์ริล สามารถปัสสาวะ (Urinate) ในห้องน้ำเองได้ด้วยตนเอง

2. การเตรียมความพร้อม (Preparation) - ก่อนเริ่มการฝึก ของเล่นของเชอร์ริลทุกชิ้นได้ถูกเก็บออกไป เพื่อไม่ให้เธอวอกแวก (Distracted) แล้วตามด้วยการให้เธอน้ำแอปเปิ้ลแก้วใหญ่ เพื่อที่เธอจะเกิดปวดปัสสาวะเร็วขึ้น

3. เลือกสิ่งเสริมแรง (Reinforcement) - เป็นลูกอม, การชมเชยด้วยวาจา (Verbal praise), หรือการกอด และทุกครั้งที่เชอร์ริลแสดงหรือทำให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ ก็จะเสริมแรงทันที สิ่งเสริมแรงจะเพิ่มความเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมเดิมจะเกิดซ้ำ (Repeat) อีก

4. การก่อร่าง (Shaping) - เหมือนกับที่สกินเนอร์ (Skinner) ใช้ในขั้นตอนการก่อร่าง เพื่อให้หนูกดที่แถบราว เราสามารถใช้ขั้นตอนการก่อร่างที่คล้ายกันเพื่อวางเงื่อนไขให้เชอร์ริลใช้ห้องน้ำ ทุกครั้งที่เธอแสดงแสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่พฤติกรรมเป้าหมาย (การเดินไปใช้ห้องน้ำ) พ่อแม่จะให้รางวัลเธอ, ชมเธอ, หรือกอดเธอ เช่นเวลาที่เชอร์ริลอยากเข้าห้องน้ำให้บอกเธอว่า “ดีมาก”

เมื่อเชอร์ริลเดินเข้าห้องน้ำให้บอกเธอว่า “ช่างเป็นเด็กที่เก่งอะไรขนาดนี้” เมื่อไหร่ที่เธอถอดกางเกงลงเองให้บอกเธอว่า “หนูทำได้ดีมาก” หลังจากที่เธอปัสสาวะในโถส้วมเสร็จ ให้กอดเธอและตามด้วยของรางวัล แม่คนไหนที่ช่วยเหลือในการฝึกใช้ห้องน้ำโดยที่ใช้ขั้นตอนกล่าวข้างต้น ต้องการเวลา 4 - 8 ชั่วโมง เพื่อฝึกการใช้ห้องน้ำให้กับเด็กอายุ 2 – 3 ปี

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Operant conditioninghttps://en.wikipedia.org/wiki/Operant_conditioning[2020, August 21].
  3. B. F. Skinner - https://en.wikipedia.org/wiki/B._F._Skinner[2020, August 21].