จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 266: การวางเงื่อนไขต่างวัฒนธรรม (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-266

      

ขณะที่เรากำลังนั่งบนเก้าอี้ทำฟันมี 2 ปัจจัยทางจิตวิทยาที่น่าสนใจกำลังทำงานอยู่ อย่างแรกคือความเป็นไปได้ที่เรากำลังถูกวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical conditioning) อย่างที่สองคือความเป็นไปได้ที่เรากำลังได้รับความเจ็บปวดไม่มากก็น้อย

มีความเป็นไปได้ที่เราจะถูกวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคในขณะที่กำลังรับทันตกรรม (Dental treatment) ยกตัวอย่างเช่น บนเก้าอี้ทำฟัน เราอาจจะกำลังรับสิ่งเร้าที่ไม่ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned stimuli) เช่นการฉีดยา (Injection) และการกรอฟัน (Drilling) ซึ่งจะทำให้เกิดการตอบสนองที่ไม่ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned response) กล่าวคือความเจ็บปวด (Pain), ความกลัว, และความเครียด (Anxiety) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกวางเงื่อนไขด้วยสิ่งเร้าทางธรรมชาติ (Neutral stimuli) ที่หลากหลาย (Variety) เช่นกลิ่น การเห็น (Sight) เสียง หรือภาพ (Image)

ความเจ็บปวดไม่เหมือนกับทางการรับรู้ (Senses) อื่นๆ เพราะระดับความรุนแรง (Intensity) ของความเจ็บปวดสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้โดยปัจจัยทางด้านจิตวิทยา เช่นการทำให้ตัวเองผ่อนคลาย (Relax) หรือการเพ่งจุดสนใจใหม่ (Refocus) ไปยังจุดอื่น

อันดับต่อไปเราจะมาดูว่าการปฏิบัติ (Practice) ทางวัฒนธรรม ที่ต่างกัน (Diversity) มีอิทธิพล (Influence) ต่อการวางเงื่อนไขของความกลัวต่อทันตกรรมอย่างไร ข้อมูลสถิติแสดงระดับสูงของความกลัวต่อทันตกรรมในเด็กอเมริกัน (20%), สิงคโปร์ (17%), และญี่ปุ่น (14%) เปรียบเทียบกับเด็กในนอร์เวย์และสวีเดน (3.5%)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนต่างวัฒนธรรมมีระดับความกลัวทันตแพทย์ที่ไม่เท่ากัน ก็เพราะแต่ละประเทศมีระบบการเข้ารับรักษาฟันที่ต่างกัน ในประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) [นอร์เวย์และสวีเดน] มีสวัสดิการดูแลสุขภาพ (Health care program) จากภาครัฐที่ทั่วถึง (Universal) ประชาชนทุกคนในประเทศเพื่อเข้ารับการรักษาฟันฟรี

เนื่องจากการเข้าไปรักษาฟันเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้ไม่ยาก เด็กสแกนดิเนเวียเลยได้เข้ารับทันตกรรมแบบสม่ำเสมอ (Regularly) ไม่ต้องรอให้อาการเจ็บฟันที่แย่หรือรุนแรงก่อนเข้ารับการรักษา มุมมองของเด็กเหล่านี้ที่มีต่อทันตกรรม คือไม่น่ารื่นรมย์ (Unpleasant) แต่รู้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น

ในมุมตรงกันข้าม ชาวอเมริกันและญี่ปุ่นไม่มีสวัสดิการฟรีจากภาครัฐในการรักษาฟันซึ่งทั่วถึงประชาชนทุกคน ดังนั้น (Consequently) เด็กบางคนจะเข้ารับการรักษาก็ต่อเมื่อมีอาการปวดฟันที่รุนแรง (Serious) เพราะเหตุนี้ประสบการณ์ (Experience) ครั้งแรกในการเจอทันตแพทย์ของพวกเด็กอเมริกันและญี่ปุ่นเลยเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและควรที่จะหลีกเลี่ยง (Avoid) นี่เป็นตัวอย่างว่าการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ต่างกันมีอิทธิผลต่อความเจ็บปวดในการรักษาฟัน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Conditioninghttps://www.britannica.com/science/conditioning [2020, May 16].