จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 251: วางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (1)
- โดย ปานชนก แก้วจินดา
- 2 มกราคม 2563
- Tweet
จินตนาการว่าเราเป็นผู้ช่วยในห้องทดลอง (Laboratory) ของอีวาน ปัฟลอฟ (Ivan Pavlov) นักจิตวิทยาชาวรัสเชีย และสิ่งทดลอง (Experiment) ของเรา คือสุนัขที่ชื่อ แซม (Sam) เรากำลังใช้ขั้นตอน (Procedure) ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แซมจะเกิดอาการน้ำลายไหล (Salivating) หลังจากที่ได้ยินเสียงกระดิ่ง
การตอบสนองนี้ ปัฟลอฟเรียกว่า การสะท้อนกลับแบบมีเงื่อนไข (Conditioned reflex) ในบทความนี้เราจะเรียกขั้นตอน การทดลองของปัฟลอฟว่า การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning) ซึ่งแยกประเภทออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 - เลือกสิ่งเร้า (Stimulus) และการตอบสนอง (Response) โดยเงื่อนไข (Term) ก็คือ ก่อนที่เราจะเริ่มขั้นตอน การทดสอบเพื่อสังเกตว่าการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคจะเกิดกับแซมได้ยังไรนั้น เราต้องแยก 3 ปัจจัยที่สำคัญ อันได้แก่ (1) สิ่งเร้าที่เป็นกลาง (2) สิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข และ (3) การตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข
เราจะเริ่มจากการเลือกสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Neutral stimulus : NS) ก่อน สิ่งเร้าที่เป็นกลาง คือ สิ่งเร้าที่เข้าไปกระตุ้น ประสาทสัมผัส (Sensory) เช่น การมองเห็น การได้ยิน หรือการได้กลิ่น แต่ไม่ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ สิ่งเร้าที่เป็นกลางของเราคือเสียงกระดิ่ง (Bell tone) ที่แซม เจ้าสุนัขนั้นจะได้ยิน ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่ได้ก่อให้เกิด อาการน้ำลายไหล
ต่อมา ในขั้นตอนที่ 2 – เลือกสิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned stimulus: UCS) ซึ่งก็คือ การที่สิ่งเร้าถูกกระตุ้น (Trigger) แล้วทำให้เกิดการตอบสนองทางกายภาพ (Physiological reflex) เช่น อาการน้ำลายไหล หรือการกระพริบตา สิ่งเร้า ที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไขในการทดสอบคืออาหาร ซึ่งจะถูกนำไปให้แซมเห็นเพื่อให้เกิดอาการน้ำลายไหล
ขั้นตอนที่ 3 หรือสุดท้าย – เลือกและตรวจสอบการตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned response: UCR) อันเป็นการตอบสนองที่ไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ แต่เป็นการตอบสนองทางกายภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งจะถูกกระตุ้นจาก สิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (UCS)
ยกตัวอย่างเช่น อาการน้ำลายไหล คือการตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (UCR) ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยอาหาร ในกรณีนี้ การมองเห็นอาหาร ซึ่งคือสิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (UCS) นั้น จะทำให้แซมเกิดอาการน้ำลายไหล หรือก็คือ การตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (UCR) นั่นเอง
แหล่งข้อมูล:
- Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
- Conditioninghttps://www.britannica.com/science/conditioning [2020, February 1].