จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 243: การบำบัดรักษาผู้เสพติด (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-243

      

      โดยทั่วไปผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต (Mental health) แสวงหาความช่วยเหลืออย่างสมัครใจ (Voluntarily) เนื่องจากเขาต้องการหยุดความทุกข์ทรมานหรือการปราศจากความสุข เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เสพติด (Addict) ที่ไม่รับรู้ว่าตนเองมีปัญหา จึงไม่แสวงหาความช่วยเหลืออย่างสมัครใจ

      ดังนั้นขั้นตอนแรกของการเข้ารับการบำบัดรักษาคือการยอมรับว่าตนเองมีปัญหา แม้ว่าขั้นตอนนี้ดูเหมือนจะแจ่มชัด (Obvious) แต่ในความเป็นจริง มันเป็นอุปสรรค (Hurdle) ที่ผู้เสพติดยากที่จะเอาชนะได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้เสพติดเชื่อว่า สารเสพติดคือทางออกของปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว, ความไม่มั่นคง, หรือความกังวล

      เกือบ 10 ปีที่มาร์ตินเชื่อว่าแอลกอฮอล์คือคำตอบของความกลัวทางเพศและสังคม อันที่จริง สิ่งที่อยู่ตรงข้ามคือคำตอบ การเสพติดอย่างหนักคือปัญหา แม้ว่ามาร์ตินและผู้เสพติดส่วนมากปฏิเสธที่จะยอมรับ การเกลี้ยกล่อม (Convince) ผู้เสพติดให้แสวงหาความช่วยเหลือมักต้องอาศัยความพยายามของครอบครัว, คู่ครอง, นายจ้าง, ผู้พิพากษา, หรือแพทย์

      ขั้นตอนที่ 2 คือเข้าสู่โปรแกรม ทุกๆ วัน ในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 700,000 คนเข้ารับการบำบัดรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยนอกตามคลินิก ในกรณีของมาร์ติน เขาถูกบังคับให้เป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล เพราะเขาเป็นทั้งผู้เสพติดและเป็นโรคซึมเศร้า (Depression), ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา, และไม่แสวงหาความช่วยเหลือตามลำพัง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเหล้าเมายาส่วนใหญ่ (85%) ซึ่งเข้ารับการบำบัดรักษาตามคลินิกผู้ป่วยนอก

      ในโปรแกรมการบำบัดรักษาไปตามขั้นตอนตามจุดมุ่งหมาย (Goal) นั้น มาร์ตินได้รับการตรวจสุขภาพอย่างครบถ้วน (Complete medical check-up) และ 2 สัปดาห์ของการ “ล้างพิษ” (Detoxification) แล้วทีมวิชาชีพ อันประกอบด้วยแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้แนะนำ (Counselor) และพยาบาล ร่วมกันอภิปรายจุดมุ่งหมาย 4 ประการ เพื่อบำบัดรักษามาร์ติน

      จุดมุ่งหมายที่ 1 - ช่วยมาร์ตินเผชิญกับปัญหาดื่มจัด เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เสพติด จะปฏิเสธ (Deny) ว่า เขามีปัญหากับสารเสพติด แม้ว่าจะเป็นที่เห็นเด่นชัดโดยผู้อื่น ก็ตาม

      จุดมุ่งหมายที่ 2 – ให้มาร์ติเริ่มต้นโปรแกรมด้วยการบริหารความเครียด (Stress management) เพื่อเขาจะลดความกังวล (Anxiety) และความตึงเครียด (Tension) โดยปราศจากการดื่มของมึนเมา การบริหารความเครียดเกี่ยวข้องกับการฝึกผ่อนคลาย (Relaxation exercise) และกิจกรรมสนุกสนานอื่นๆ (อาทิ กีฬาและงานอดิเรก) เพื่อทดแทน (Substitute), การหลุดพ้น (Escape), และความสนุก (Enjoyment) ที่แอลกอฮอล์นำมาให้ (Provided for)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. What Are My Addiction Treatment Options? https://www.addictioncenter.com/treatment/ [2019, December 7].