จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 231: แอลกอฮอล์ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-231

      

      แอลกอฮอล์ (Alcohol) มิใช่สารกระตุ้น (Stimulant) แต่เป็นสารกดประสาท (Depressant) เอธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เป็นยามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psycho-active) ซึ่งได้รับการจัดประเภท (Classified) เป็นสารกดประสาท กล่าวคือมันระงับกิจกรรมของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system)

      ในเบื้องต้น (Initially) แอลกอฮอล์ อาจดูเหมือนเป็นสารกระตุ้น เพราะมันสามารถลดการยับยั้ง (Inhibition) แต่ในเวลาต่อมา มันจะกดทับการสนองตอบ (Response) ทั้งทางร่างกาย (Physiological) และจิตใจ (Psychological) ผลกระทบของแอลกอฮอล์ขึ้นอยู่กับผู้ดื่ม ว่าเขาดื่มอย่างไร

      การดื่มเพียง 2 – 3 แก้ว ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง 0.01 – 0.03 BAC (= Blood alcohol content) ก็สามารถเป็นสาเหตุของการสูญเสียการยับยั้ง หลังการดื่มมากขึ้น (0.03 – 0.06 BAC) แอลกอฮอล์จะเข้าแทรกแซง (Interfere) ความสามารถของผู้ดื่มในการเข้าใจเหตุการณ์สำคัญรอบๆ ตัวผู้ดื่ม

      หลังการดื่มมากขึ้นไปอีก (0.06 – 0.1 BAC) แอลกอฮอง์จะลดความสามารถ (Impair) อย่างรุนแรง (Seriously) ในการประสานความเคลื่อน (Motor coordination) ของร่างกาย (อาทิ การขับรถ) ความสามารถในการรับรู้ (Cognitive) การตัดสินใจ และการพูด (Speech)

      หลังการดื่มอย่างเมามาย (0.5 BAC ขึ้นไป) แอลกอฮอล์อาจเป็นสาเหตุของการสิ้นสติ (Coma) หรือการการตาย ตัวอย่างเช่น ในการดื่มปฏิญาณในพิธีรับน้องใหม่ (Fraternity pledge) ครั้งหนึ่ง น้องใหม่คนหนึ่งตายหลังจาก 7 ชั่วโมงของการดื่มสุรา (Binge) อย่างต่อเนื่องถึง 24 แก้ว จนนำไปสู่ 0.58 BAC

      ผลกระทบของแอลกอฮอล์ ค่อนข้างซับซ้อน (Complex) เนื่องจากแอลกอฮอล์ขัดขวาง (Block) ตัวรับประสาท (Neural receptor) และกระตุ้น (Stimulate) ตัวรับอื่นๆ อาทิ ตัวรับกาบา (Gaba) ในสมอง ซึ่งนำไปสู่การลดความกังวล (Anxiety) และสูญเสียการยับยั้ง

      นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังแทรกแซงตัวรับประสาทที่ชื่อ NMDA (N-methyl-D-aspartate) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความลำบากในการรับรู้ ในปริมาณ (Dose) สูง (0.5 BAC) แอลกอฮอล์จะระงับการหายใจ (Respiratory) หรือทำให้การหายใจติดขัด (Vital breathing) แล้วสะท้อนกลับ (Reflex) ในก้านสมอง (Brain stem) จนหยุดการหายใจ ซึ่งอธิบายว่าทำไมน้องใหม่ในพิธีปฏิญาณ จึงตายหลังจาก BAC ขึ้นสูงถึง 0.58

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Alcohol - https://en.wikipedia.org/wiki/Alcohol [2019, August 31].