จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 218: สารกระตุ้น (3)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 16 มิถุนายน 2562
- Tweet
ผลกระทบเบื้องต้น (Primary effect) ของแอมเฟตามีน (Amphetamine) และยาที่สัมพันธ์กัน อาทิ เมแธมเฟตามีน (Methamphetamine) คือการเพิ่มการหลั่ง (Release) สารสื่อประสาทที่ช่วยส่งสัญญาณในสมอง (Neuro-transmitter) ที่ชื่อว่า “โดพามีน” (Dopamine)
นักวิจัยเรียนรู้ว่า การหลั่งสารโดพามีน เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมที่ให้ความรื่นรมย์ (Pleasurable) ที่หลากหลาย อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ยาเมแธมเฟตามีน จึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา (Desirable) เพราะเพิ่มการหลั่งของโดพามีน ซึ่งเป็นสาเหตุของความรู้สึกรื่นรมย์ แต่อันตรายเพราะการเสพแล้วติด
ในช่วงแรกของการเสพยา เมแธมเฟตามีน หรือยาไอซ์ (Ice) ซึ่งเป็นรูปแบบสกัด (Concentrated) ผู้เสพติดจะรู้สึกไม่อยู่นิ่ง (Restless) และมีพฤติกรรมซ้ำซาก (Repetitive behavior) แต่ต่อมา ความสุขสบายเบื้องต้นดังกล่าว จะถูกทดแทนด้วยโรคซึมเศร้า (Depression) อาการปั่นป่วน (Agitation) นอนไม่หลับ (Insomnia) และพัฒนาการของความรู้สึกหวาดระแวง (Paranoid)
เนื่องจากความเสี่ยงภัย (Risk) การติดยา (Addiction) และการพึ่งพิง (Dependency) ตลอดจนปัญหาทางกายและทางจิต เมแธมเฟตามีน หรือยาไอซ์ จึงเป็นยาอันตราย แต่การปราบปราม (Crack-down) ยาประเภทแอมเฟตามีนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970s ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้เสพยาหันไปใช้โคเคน (Cocaine) แทน
ในคริสต์ทศวรรษ 1980s ความนิยมในยาโคเคน ได้แพร่หลายเกินสัดส่วน (Epidemic proportion) จนรัฐบาลอเมริกัน ต้องประกาศเป็นสงคราม (War) เพื่อปราบปรามยาดังกล่าว ทำให้ผู้เสพยาหันไปใช้เมแธมเฟตามีนแทน ในคริสต์ทศวรรษ 1990s อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยพบว่า โคเคนยังเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย โดยที่ 80% ของโคเคนถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐอเมริกาจากประเทศโคลอมเบีย
โคเคนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการใช้ที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพราะเป็นสารกระตุ้นอันทรงพลัง (Powerful stimulant) ซึ่งสร้างความสุขสบาย (Euphoria) และเพิ่มพลัง เป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้ว ที่ชาวอินคาโบราณ (Ancient Incas) และผู้สืบทอดสายเลือด (Descendant) ชาวพื้นเมือง (Indigenous) ในประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ ได้เคี้ยวใบจากต้นโคคา (Coca) ในการเดินป่าฝ่าดงผ่านภูเขาสูงที่แสนจะทรหด (Demanding journey) ชาวพื้นเมืองดังกล่าว พบการเพิ่มพลัง (Vigor) ไม่เหนื่อยง่าย (Fatigue) หรือหิวกระหาย แต่กลับรู้สึกกระชุ่มกระชวย เนื่องจากใบโคคาประกอบด้วยสารโคเคนในปริมาณเล็กน้อย
แหล่งข้อมูล:
- Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
- Stimulant - https://en.wikipedia.org/wiki/Stimulant [2019, June 15].
- Cocaine - https://en.wikipedia.org/wiki/Cocaine [2019, June 15].