จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 214: การเสพติดยา (3)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 19 พฤษภาคม 2562
- Tweet
แม้จะใช้เงินส่วนใหญ่ในการปราบปราม แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่า อาชญากรรมการเสพติดยาผิดกฎหมาย ก็มิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (Materially) ด้วยเหตุผลนี้ นักวิชาชีพสุขภาพ (Health professionals) จึงเสนอแนะว่า วิธีที่ดีกว่าในการลดการเสพติดยาที่ผิดกฎหมาย คือการใช้เงินในการให้การศึกษา ให้คำแนะนำ (Advice) และให้การเยียวยารักษาผู้เสพติดยา
ในการสนับสนุน¬¬ข้อเสนอแนะนี้ นักวิจัยพบว่า โปรแกรมการเยียวยารักษาผู้เสพติดยา จะใช้เงินอย่างได้ประสิทธิผล (Cost effective) มากกว่าการคุมขัง (Imprisonment) ผู้เสพติดยาผิดกฎหมาย ต้นทุนในการปราบปรามไร้ประสิทธิผล (Ineffective) เนื่องจากการใช้ยาเสพติดผิดกฎหมายยังคงแพร่หลายในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ
แพทย์ อัยการ และนักการเมือง จึงเสนอแนะให้มีการควบคุมการใช้ยาเสพติดผิดกฎหมายโดยการทำให้การเสพยาติดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย (Legalization) เพียงแต่มีข้อกำหนดเรื่องอายุ (Age restriction) หรือไม่ก็นิรโทษกรรม (Decriminalization) กล่าวคือ ไม่มีการลงโทษทางอาญา (Criminal penalty) แต่มีการปรับเพื่อทดแทน (Substituting fine)
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่า การทำให้ถูกกฎหมาย หรือการนิรโทษกรรม จะมีผลกระทบต่อการใช้ยาหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและสังคม ในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แม้จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคงหาข้อยุติไม่ได้
การใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psycho-active) ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย สามารถเปลี่ยนแปลงสติสัมปชัญญะ (Consciousness) ภาวะอารมณ์ (Emotional state) และกระบวนการความคิด (Thought process) โดยการเปลี่ยนแปลง หรือแทรกแซง (Interfere) ของตัวกุญแจ (Key) และแม่กุญแจ (Lock)
ในระบบประสาท (Nervous system) มีตัวนำส่งสารเคมี (Chemical messenger) ที่เรียกว่า “สื่อนำส่ง” (Transmitter) ทำหน้าที่เหมือนตัวกุญแจทางเคมีที่เปิดและปิดแม่กุญแจของเซลล์ประสาทบริเวณใกล้เคียง (Neighboring neurons) ยาหลายตัวทำหน้าที่เปิดและปิดแม่กุญแจทางเคมี ส่งผลให้เพิ่มหรือลดกิจกรรมทางประสาท (Neural activity)
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ยามีผลกระทบต่อระบบประสาทของแต่ละบุคคล บางส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยพันธุกรรม (Genetic factor) ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า แฝดคล้าย (Identical twin) ที่มียีน (Gene) ร่วมกัน 100% จะเหมือนกัน (Similar) ในเรื่องการใช้ยา (Use) และเสพติดยา (Abuse) มากกว่าแฝดพี่น้อง (Fraternal twin) ที่มียีนร่วมกันเพียง 50% สรุป ปัจจัยพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการและการทำงาน (Functioning) ของระบบประสาท ซึ่งสามารถเพิ่มหรือลดความเสี่ยงของการใช้และเสพติดยาได้
แหล่งข้อมูล:
- Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
- Psychoactive drug - https://en.wikipedia.org/wiki/Psychoactive_drug [2019, May 18].