จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 205: ทฤษฎีการสะกดจิต (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-205

      

      คำอธิบายของการสะกดจิต (Hypnosis) ได้ถูกดัดแปลงไปมากในหลายสิบปีที่ผ่านมา ในคริสต์ทศวรรษ 1960s ถึง 1970s มี 2 มุมมองหลัก (Primary views) โดยที่มุมมองแรกเชื่อว่า การสะกดจิตเป็นสภาวะเสมือนมึนงง (Trancelike state) ซึ่งทำให้บุคคลนั้น มีแนวโน้มที่จะทำตามคำแนะนำของผู้สะกดจิต อีกมุมมองหนึ่งไม่เห็นด้วยกับความเชื่อดังกล่าวเลย

      หลังจากการอภิปรายโต้แย้งกันนานนับสิบปี ช่องว่างระว่างมุมมองทั้งสองเริ่มแคบลง โดยละทิ้งความคิดเรื่องสภาวะเสมือนมึนงง แล้วอธิบายการสะกดจิตว่าเป็นสภาวะต่อเนื่อง (Continuum) ซึ่งมีตั้งแต่คนที่เชื่อว่า การสะกดจิตเป็นสภาวะดัดแปลง (Altered state) แต่มิใช่สภาวะเสมือนมึนงง จนถึงคนที่เชื่อว่า เป็นผลจากแรงกดดันของสังคมและความสามารถส่วนบุคคล

      ปลายหนึ่งของสภาวะต่อเนื่องในการสะกดจิต มีนักวิจัยและแพทย์ที่มีมุมมองว่า การสะกดจิตเป็นสภาวะดัดแปลงของการมีสติ (Consciousness) ซึ่งบุคคลประสบอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน อันเป็นมุมมองยอดนิยมจนถึงปัจจุบัน เจ้าของทฤษฎีนี้คือ มิลตัน อิริคสัน (Milton Erickson) ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1980 ถึง 1941

      เขาเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำนักปฏิบัติทางการแพทย์ (Medical practitioner) ของการสะกดจิตในระดับโลกที่เชื่อว่าการสะกดจิตทำให้ผู้เข้ารับบริการเข้าสู่สภาวะเสมือนมึนงง ซึ่งข้อจำกัดของการมีสติถูกระงับไว้ชั่วคราวบางส่วน (Partially suspended) เพื่อเขาจะได้ตอบรับ (Receptive) ต่อทางเลือกอื่นของความคิดและพฤติกรรม

      ดังนั้น ณ ปลายสุดหนึ่งของสภาวะต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นมุมมองที่สุดขั้ว) ก็คือการสะกดจิตเป็นสภาวะดัดแปลงและเป็นสภาวะเสมือนมึนงงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่มุมมองยอดนิยมก็คือ มุมมองปานกลาง (Moderate) ซึ่งเป็นสภาวะดัดแปลงที่เหมือนกับสภาวะการฝันกลางวัน (Day dream) แต่มิใช่สภาวะเสมือนมึนงง

      ในการอธิบายว่า การสะกดจิตอาจสร้างสภาวะดัดแปลงได้อย่างไร? นักจิตวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ เออร์เนสต์ ฮิลการ์ด (Earnest Hilgard) ได้พัฒนาแนวความคิด “นักสังเกตการณ์อำพราง” (Hidden observer) ว่า เราจะประสบปรากฏการณ์ (Phenomenon) ดังกล่าวได้ เมื่ออยู่ในการทดลองที่ถูกสะกดจิต

      ลองจินตนาการว่าถูกสะกดจิต แล้วได้รับคำสั่งให้แบ่งการมีสติออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ถูกสะกดจิตของเรา จะรู้สึกเจ็บปวด (Pain) เล็กน้อยหรือไม่รู้สึกเลย โดยจะสามารถตอบคำถามด้วยวาจาหรือปากเปล่า (Orally) ได้ ส่วนที่ไม่ถูกสะกดจิตของเรา จะรู้สึกเจ็บปวดตามปรกติ (Sensation) โดยจะไม่สามารถตอบคำถามด้วยวาจา แต่ตอบคำถามได้ด้วยการเคาะนิ้ว (Finger tap) เคาะ 1 ครั้ง หมายถึงตอบ “รับว่าใช่” เคาะ 2 ครั้ง หมายถึงตอบ “ปฏิเสธว่าไม่ใช่”

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019, March 16].
  3. Milton H. Erickson - https://en.wikipedia.org/wiki/Milton_H._Erickson [2019, March 16].
  4. Earnest R. Hilgard - https://en.wikipedia.org/wiki/Ernest_Hilgard [2019, March 16].