จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 197: ปัญหาการนอน [ไม่] หลับ (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-197

      

      ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียด (Stressful) อาทิ การสูญเสียคนที่รัก, การหย่าร้าง (Divorce), หรือการเผชิญกับการบาดเจ็บทางกาย (Physical injury) อาจส่งผลให้เกิดโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia) ซึ่งได้รับการนิยามว่า เป็นการนอนไม่หลับที่ยาวนานถึง 3 สัปดาห์ ในกรณีเหล่านี้ แพทย์มักสั่ง (Prescribe) กลุ่มยากล่อมประสาท (Benzodiazepines)

      ยากลุ่มนี้ มีชื่อทางการค้าหลากหลาย อาทิ Dalman, Xanax, Halcion, และ Restoril ช่วยในการลดความวิตก (Anxiety), ความกังวล (Worry), และความเครียด (Stress) โดยได้ประสิทธิผลในการรักษา (Treatment) โรคนอนไม่หลับ ในระยะสั้น (ประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์)

      อย่างไรก็ตาม เมื่อปริมาณการกินยา (Dosage) เพิ่มขึ้น และการใช้ที่ยาวนาน (Prolonged) ยากลุ่มนี้ อาจให้ผลข้างเคียง (Side effects) อันรวมถึงอาการง่วงนอน (Drowsiness) ตอนกลางวัน, การอดทนยอมรับ (Tolerance) [สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา], และการติดยา (Dependency)

      เนื่องจากยากลุ่มนี้ลดความวิตก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ (Chief cause) ของโรคนอนไม่หลับ จึงได้ประสิทธิผลในการรักษา และค่อนข้างจะปลอดภัย เมื่อกินในปริมาณปานกลาง (Moderate) สำหรับช่วงสั้นๆ แต่หากใช้อย่างต่อเนื่อง และกินในปริมาณที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่การเสพติดตัวยา และมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง อาทิ การสูญเสียความทรงจำ และการง่วงเกินปรกติ

      เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการนำเสนอยากล่อมประสาทกลุ่มที่ได้พิสูจน์แล้วว่า ได้ประสิทธิผลในการรักษาโรคนอนไม่หลับ โดยผลข้างเคียงที่น้อยลงในการจัดการ (Management) กับโรคนอนไม่หลับในระยะยาว แพทย์มักแนะนำโปรแกรมที่มีการรักษาโดยไม่ใช้ยา (ทางจิต) ควบคู่ไปกับการใช้ยา (ทางกาย)

      ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่ประมาณ 20 ล้านคน เป็นโรคนอนไม่หลับ เนื่องจากเขาหยุดหายใจ ปัญหานี้มีชื่อว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” (Sleep apnea) ซึ่งในทางปฏิบัติ คือช่วงเวลาที่เกิดแล้วเกิดอีก (Repeat) ของการหยุดหายใจเป็นเวลา 10 วินาที หรือยาวนานกว่านั้น ในระหว่างการนอนหลับ

      ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจชั่วขณะระหว่างนอนหลับ แล้วตื่นนอนทันที (Momentarily wake up), เริ่มหายใจต่อ, แล้วกลับไปหลับใหม่ การตื่นนอนครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงกลางคืน อาจส่งผลให้เป็นโรคนอนไม่หลับและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อย (Exhausted) ในตอนกลางวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของความเหนื่อยนั้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sleep disorder - https://en.wikipedia.org/wiki/Sleep_disorder [2018, January 19].