จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 341 : สุดท้ายปลายทาง 4 (ตอนจบ)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 27 ตุลาคม 2564
- Tweet
ดังนั้น โปรแกรมฝึกอบรมในระยะสั้นในเรื่องความทรงจำ, การแก้โจทย์, และการรวบรวมสมาธิ สำหรับผู้มีอายุระหว่าง 65 ปี ถึง 94 ปี จึงสามารถช่วยให้การรับรู้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วยต่อสู้กับการเสื่อมถอยของการรับรู้ ที่ตามปรกติมักเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากปราศจากการฝึกอบรม
แต่ก็มีข่าวดีจากการวิจัยว่า เมื่อผู้คนแก่ตัวลง ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความรู้สึกในเชิงลบได้ และเน้นย้ำความรู้สึกในเชิงบวก อันที่จริง ความถี่ในการควบคุมอารมณ์เครียด (Intense) จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในบรรดาผู้มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 34 ปี แต่หลังจากนั้นจะลดลงอย่างฮวบฮาบจนถึงอายุ 65 ปี
หลังจากอายุ 65 ปีไปแล้ว ความรู้สึกเครียดในเชิงลบของผู้สูงวัย จะอยู่ในระดับคงเส้นคงวา แต่จะเพิ่มขึ้นบ้างในบรรดาผู้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ของการเจ็บป่วยและการตายของคนใกล้ชิด (Bereavement) แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากที่ฉลาดขึ้น หรืออย่างน้อยก็สงบอารมณ์ลง (Tranquil) เมื่อมีอายุมากขึ้น
นักวิจัยบางคนที่ศึกษาเรื่องชราภาพมองโลกในแง่ดี โดยที่ในความเห็นของเขา ผู้คนซึ่งมีอาชีพและความสนใจที่ท้าทายความสามารถยังคงกระฉับกระเฉงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งยังคงยืดหยุ่นปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้ มีแนวโน้มที่จะดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการรับรู้ แต่ถ้าไม่ใช้ความสามารถดังกล่าว มันก็จะสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ความคิดเห็นนี้มีความน่าจะเป็น (Probability) สูง
แต่ยังมีนักวิจัยอื่นๆ ที่มองโลกในแง่ตรงข้าม ซึ่งเชื่อว่าผู้สูงวัยได้สูญเสียความสามารถดังกล่าวไปแล้ว จึงไม่สามารถใช้การได้อีก เขาจะกังวลในเรื่องจำนวนผู้คนที่จะมีชีวิตอยู่เกินกว่า 90 ปี และเกินกว่า 100 ปี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับอัตราการรับรู้ที่เสื่อมลง (Impairment) และ โรคสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ท้าทายสังคมก็คือ การทำให้แน่ใจว่าผู้คนจำนวนมากที่มีชีวิตเกินกว่า 90 ปี จะสามารถใช้สมองต่อไป แทนที่จะสูญเสียมันไป
ทฤษฎี 8 ขั้นตอนของชีวิต โดยนักจิตวิทยาชื่อดัง เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) กล่าวถึงขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต ว่ามีลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ระหว่าง ความสมบูรณ์ในตนเอง (Ego integrity) กับความสิ้นหวัง (Despair) ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนสะท้อนกลับถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมา หากไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะรู้สึกเสียใจ รำพึงถึงความสูญเปล่าของชีวิต แล้วลงเอยด้วยความขมขื่นและตกอาลัยตายอยาก
แต่หากเขาประสบความสำเร็จ เขาจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้ซึ้งถึงความสมบูรณ์ในชีวิต โดยบรรลุถึงการมีปัญญา (Wisdom) ที่จะไม่จมปลักอยู่กับอดีต แต่จะต้องต่อสู้กับอนาคต ซึ่งรวมถึงความตายด้วย วิธีการที่คนเราสามารถปรับตัวเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในบั้นปลายของชีวิต ดังนั้นในทางจิตวิทยาแล้ว เรามีทางเลือก (Choice) ที่จะกำหนดชตาชีวิตของเราเอง แทนที่จะปล่อยไปตามยถากรรม!
แหล่งข้อมูล:
- Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
- Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2021, October 26].
- Erik Erikson - http://en.wikipedia.org/wiki/Erik_Erikson [2021, October 26].