จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 340 : สุดท้ายปลายทาง 3

จิตวิทยาผู้สูงวัย-340

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 340 : สุดท้ายปลายทาง 3

จากประสบการณ์ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา คนเรามีอายุคาดสูงขึ้นตลอด จึงมีการเพิ่มผู้ใหญ่อีกวัยหนึ่งขึ้นมา

  • ผู้ใหญ่วัยดึก – ในช่วงอายุ 70 – 89 ปี เราจะผ่านการเปลี่ยนแปลงในทางลดลงอีกของความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ, ความหนาแน่น (Density) ของกระดูก, ความเร็วของการส่งผ่านประสาท (Nerve conduction), และ ผลผลิตของปอด, หัวใจ, และไต นอกจากนี้ มากกว่า 10% ของผู้คนจะเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s) หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) ในปี พ.ศ. 2540 ผู้มีอายุสูงสุดในโลกตายเมื่ออายุ 117 ปี และในปี พ.ศ. 2542 ผู้มีอายุสูงสุดในโลกตายเมื่ออายุ 119 ปี ดังนั้น จึงมีการพยากรณ์กันว่า อายุคาดเฉลี่ยของคนเราน่าจะถึง 100 ปี (Centenarian) เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 21

นักจิตวิทยาประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการศึกษาวิจัย เพื่อแยกแยะสภาวะที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า เป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชราภาพ จากสภาวะที่รักษาได้หรือป้องกันได้ ดังการค้นพบต่อไปนี้

  • การเสื่อมลงของสังขารณ์ (Senility) ในผู้สูงวัยมักมีสาเหตุมาจากทุพโภชนาการ (Malnutrition), การกินยาตามใบสั่งแพทย์, การกินยาหลายตำรับรวมกันจนเป็นอันตราย, ตลอดจนยาที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแทพย์ อาทิ ยาช่วยการนอนหลับและยาแก้แพ้ (Anti-histamine) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอันตรายต่อผู้สูงวัย
  • อาการซึมเศร้า (Depression), ความเชื่องช้าลง (Passivity), และปัญหาความทรงจำ อาจเป็นผลมาจากการสูญเสียกิจกรรมที่เคยมีความหมายต่อชีวิต, การกระตุ้นทางสติปัญญา, จุดมุ่งหมายของชีวิต, และการควบคุมนานาเหตุการณ์ในชีวิต
  • ความอ่อนแอและการเสื่อมสภาพ (Frailty) ของร่างกาย ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับชราภาพ มักมีสาเหตุจากการขาดความกระฉับกระเฉง (Inactivity) หรือปราศจากการออกกำลังกาย (Sedentary)

ส่วนใหญ่แล้ว การสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงวัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธุกรรม แต่ก็มีกรณีไม่น้อยที่เกิดจากปัจจัยทางพฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อม ปัจจัยป้องกันที่สำคัญก็คือ การออกกำลังกายประเภทแอโรบิค (Aerobic) และการฝึกความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อร่างกาย ปัจจัยทั้งสองช่วยดำรงรักษาความยืดหยุ่น, เพิ่มพูนปริมาณโลหิตไปเลี้ยงสมอง, ส่งเสริม

พัฒนาการของเซลล์ใหม่ๆ และอาจยับยั้งการกำหนดล่วงหน้าทางพันธุกรรม (Genetic predisposition) สำหรับโรคภัยไข้เจ็บ (Infirmities) หลายประเภท

ผลลัพธ์จากการออกกำลังกายก็คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากในการทำงานของการรับรู้ (Cognitive functioning) ในนานาทักษะ อาทิ การวางแผน, การรวบรวมสมาธิ, และการจัดแจงการกระตุ้นทางจิตใจ (Mental stimulation) อันดูเหมือนจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของการเชื่อมโยงของใยประสาท (Neural connection) ในสมอง โดยจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยชรา

แหล่งข้อมูล:

  1. Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2021, October 19].
  2. ประชากรสูงวัย.http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2021, October 19].
  3. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.